ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กราคาน้ำมันพุ่ง,วิตกภาคการเงิน ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 220.40 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday June 21, 2008 08:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (20 มิ.ย.) หลังจากราคาดิบตลาด NYMEX พุ่งขึ้นกว่า 2 ดอลลาร์ และความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาคการเงินและอุตสาหกรรมรถยนต์ 
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 220.40 จุด หรือ 1.83% ปิดที่ 11,842.69 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 24.90 จุด หรือ 1.85% ปิดที่ 1,317.93 จุด และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 55.97 จุด หรือ 2.27% แตะระดับ 2,406.09 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 5.15 พันล้านหุ้น เพิ่มขึ้นจากวันพฤหัสบดีที่ 4.44 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 5 ต่อ 1
ควินซี ครอสบี นักวิเคราะห์จากบริษัทเดอะ ฮาร์ทฟอร์ด กล่าวว่า "ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้น 2.69 ดอลลาร์ แตะระดับ 134.62 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน นักลงทุนวิตกกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงเช่นนี้อาจกระทบตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคและผลประกอบการของบริษัทเอกชน"
กระแสความวิตกกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับแนวโน้มภาคการเงินของสหรัฐเกิดขึ้นหลังจากนักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ ประกาศลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นกลุ่มการเงิน ภายหลังจากที่นายแกรี คริทเทนเดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) ของซิตี้กรุ๊ป เตือนว่า ซิตี้กรุ๊ปซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่สุดของสหรัฐเพื่อพิจารณาในแง่ของสินทรัพย์ อาจต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีลงอีกในไตรมาส 2 เนื่องจากขาดทุนในตลาดซับไพรม์
คริทเทนเดนกล่าวว่า นอกเหนือจากการขาดทุนในตลาดซับไพรม์แล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ซิตี้กรุ๊ปต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีคือการลดมูลค่าตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (CDO) หลังจากที่ซิตี้กรุ๊ปปรับลดมูลค่าตราสารประเภทดังกล่าวในไตรมาสแรกแล้วประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ จนเป็นเหตุให้ธนาคารต้องลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสแรกกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ฟิฟธ์ เติร์ด แบงคอร์ป ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ในวอลล์สตรีท ประกาศระดมทุนเพิ่มอีก 2 พันล้านดอลลาร์ และเอ็มเอฟ โกลบอล ปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในไตรมาส 2 เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อ
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มภาคการเงินของสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีข่าวว่า อดีตผู้จัดการของแบร์ สเติร์นส์ ถูกจับกุมตัวและตั้ง ข้อหาว่าฉ้อโกงหลักทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของกองทุนเฮดจ์ ฟันด์สองแห่งในวงเงิน 1.4 พันล้านดอลลาร์ โดยเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ซึ่งถือเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และมีส่วนทำให้เกิดภาวะสินเชื่อ หดตัวทั่วโลก
ทั้งนี้ หุ้นเอ็มบีไอเอ ซึ่งเป็นบริษัทประกันหุ้นกู้ ร่วงลง 13% หุ้นแอมแบค ไฟแนนเชียล ดีดขึ้น 2% หลังจากมูดีส์ประกาศให้อันดับเครดิตที่ AAA
ส่วนหุ้นกลุ่มรถยนต์ร่วงลงหลังจาก S&P ประกาศให้เครดิตพินิจแก่บริษัทผลิตรถยนต์หลายแห่งในสหรัฐ รวมถึง เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ฟอร์ด มอเตอร์ และไคร์สเลอร์ แอลแอลซี โดยหุ้นจีเอ็มร่วงลง 6.7% หุ้นฟอร์ดดิ่งลง 8.1%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ