บมจ.จีเอฟพีที (GFPT)ขยับเพิ่มเป้ารายได้ปี 51 เป็นเติบโต 15-20% จากเดิมคาดโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 8.23 พันล้านบาท เนื่องจากราคาขายเนื้อไก่แปรรูปและเนื้อไก่สดปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในตลาดส่งออก ที่ราคาส่งออกเฉลี่ยในปีนี้สูงขึ้นมาที่ 4.5-6.0 พันเหรียญ/ตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 4.0-4.5 พันเหรียญ/ตัน ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัวในช่วงนี้ที่ระดับ 33-34 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 14-15% จาก 12% ในปีก่อน
"ปีนี้ถือว่าตลาดส่งออกดีมาก ราคาขายเพิ่มสูงขึ้น และปริมาณการส่งออกก็สูงขึ้นด้วย จากโควต้าของอียู รวมทั้งตลาดญี่ปุ่น และปีนี้มีความเป็นไปได้ที่ตลาดญี่ปุ่นจะโตกว่าตลาดอียู โดยปีนี้คาดว่าไทยจะส่งออกถึง 3.7 แสนตัน จากปีก่อนที่ส่งออก 3.3 แสนตัน" นพ. อนันต์ ศิริมงคลเกษม ประธานกรรมการ GFPT กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนส่งออกประมาณ 20-25% ที่ผ่านมาบริษัทเน้นควบคุมต้นทุนและคุณภาพเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยการทำฟาร์มไก่แบบครบวงจร และป้องกันการติดเชื้อเป็นอย่างดี หลังจากไทยมีปัญหาเรื่องไข้หวัดนก
นพ.อนันต์ กล่าวว่า ในปีนี้เชื่อว่าประเทศไทยจะได้โควต้าการส่งออกไก่ไปยังตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนตัน จากปีก่อนที่มีโควต้า 1.2 แสนตัน เนื่องจากความต้องการบริโภคในยุโรป 27 ประเทศสูงขึ้น ประกอบกับ คู่แข่งมีปัญหาด้านสภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ช่วยทำให้ราคาส่งออกไก่ไปขายในอียูเพิ่มมาอยู่ที่ประมาณ 5.5-6.0 พันเหรียญ/ตัน
นอกจากนั้น ขณะนี้ไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอส่วนแบ่งโควต้าส่งออกไก่ไปยังอียูที่จะให้เพิ่มขึ้นอีก 9.2 หมื่นตันภายใต้ข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในการเจรจาอย่างเร็วภายในปีนี้หรืออย่างข้าในเดือนพ.ค.52 ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมส่งออกเนื้อไก่ของไทย
ส่วนตลาดญี่ปุ่น จากการที่ผู้บริโภคต่อต้านสินค้าจากจีนหลังเกิดปัญหาสินค้าอาหารจากจีนไม่ได้คุณภาพ ทำให้คาดว่าปีนี้ไทยจะมียอดส่งออกไปตลลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสูงกว่าการส่งออกไปยุโรป และราคาขายจะได้ดีกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 4.5-5.5 พันเหรียญ/ตัน
ขณะที่ ตลาดในประเทศขณะนี้ราคาขายยังชะลอ ไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก
นายอนันต์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าสัดส่วนรายได้ในปีนี้จะมาจากธุรกิจไก่แปรรูปและไก่แช่แข็งประมาณ 57% ธุรกิจอาหารสัตว์ 35% ที่เหลือมาจากธุรกิจฟาร์ม
นอกจากนี้ ในปลาย มิ.ย.นี้ บริษัทยังหวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะอนุมัติให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ปรับขึ้นราคาจำหน่ายไม่น้อยกว่า 15-20% ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจอาหารสัตว์ของ GFPT ด้วย
นพ.อนันต์ ยอมรับว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาประมาณ 16-20% โดยเฉพาะข้าวโพดและกากถั่วเหลือง และยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถทยอยปรับราคาส่งออกเพิ่มขึ้นได้ตามจริง แต่ราคาขายในประเทศปรับขึ้นยาก เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม
อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระทรวงพาณิชย์ อาจจะให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและมีปัญหาขาดทุนจากผลผลิตราคาตกต่ำ เช่น ผู้เลี้ยงกุ้ง
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--