ทริสเรทติ้งปรับอันดับเครดิต BANPU เพิ่มเป็น “AA-"แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 26, 2008 08:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.บ้านปู (BANPU) เพิ่มขึ้นเป็นระดับ “AA-" จากเดิม “A+" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" 
อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากฐานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งสัดส่วนธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ความสำเร็จในการนำบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอินโดนีเซีย และราคาถ่านหินที่อยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะเดียวกัน การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความมีชื่อเสียงของบริษัทในตลาดถ่านหินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนที่ไม่มีความแน่นอนในประเทศอินโดนีเซียและประเทศจีนรวมทั้งต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นยังเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่า BANPU ะยังคงรักษาฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้แม้จะมีแผนการลงทุนที่สูงในช่วงระหว่างปี 2551-2553 ทั้งนี้ ราคาถ่านหินที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและเงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้านั้นส่วนหนึ่งจะช่วยชดเชยความเสี่ยงจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นและความท้าทายที่บริษัทจะต้องรักษาระดับปริมาณสำรองของถ่านหิน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า BANPU เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 ในฐานะผู้ผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทมีการขยายธุรกิจด้านถ่านหินไปยังประเทศอินโดนีเซียและจีนอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ขยายการลงทุนสู่ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยและจีน ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจถ่านหินของบริษัทมีกำไรคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ส่วนธุรกิจไฟฟ้ามีกำไร 18%
หากพิจารณาในแง่ของการกระจายตัวในแต่ละประเทศแล้ว กำไรดังกล่าวของบริษัทมาจากการดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียประมาณ 70% จากประเทศไทย 21% และจากประเทศจีน 9% ประมาณ 75% ของปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปูทั้งหมด 23.6 ล้านตันในปี 2550 มาจากเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย
ด้วยปริมาณถ่านหินจำนวน 17.6 ล้านตันที่ผลิตได้ทำให้บริษัทจัดเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศอินโดนีเซียในปี 2550 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดจำนวน 8% ของปริมาณถ่านหินทั่วประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยบวกเรื่องราคาถ่านหินที่ทรงตัวในระดับสูง การขยายท่าเรือบอนตัง และการมีถ่านหินคุณภาพดีในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเหมืองทรูบาอินโดจะช่วยบรรเทาความกดดันจากการทำกำไรที่ลดลงจากผลกระทบของต้นทุนการทำเหมืองและการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้
ณ เดือนธันวาคม 2550 มูลค่าการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของ BANPU อยู่ที่ 12,2 05 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในประเทศไทย 73% และในประเทศจีน 27% การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยประกอบด้วยการถือหุ้น 50% ใน บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) และ 14.99 % ในบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)
สำหรับผลการดำเนินงานในปี2550 บริษัท ได้รับเงินปันผลจำนวน 3,457 ล้านบาทจากการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ เงินปันผลที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับความผันผวนของราคาถ่านหินได้ดีขึ้น การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียของบริษัทย่อยคือ PT Indo Tambangraya Megah (ITM) ช่วยเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจของบริษัทในประเทศอินโดนีเซีย ITM เป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มบ้านปูที่ลงทุนในธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย เงินสดสุทธิที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ของ ITM ประมาณ 11,900 ล้านบาทช่วยเสริมฐานทุนและโครงสร้างเงินทุนของกลุ่มบ้านปูให้แข็งแรงมากขึ้น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า BANPU จะใช้เงินจากผลประกอบการที่คาดว่าจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปีมาใช้เป็นทุนส่วนใหญ่สำหรับแผนการลงทุนขยายธุรกิจประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งใช้เป็นเงินลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 6,000-7,000 ล้านบาทในโครงการหงสา และใช้ชำระหนี้เงินกู้ตามกำหนดจำนวน 4,000 ล้านบาทต่อปีระหว่างปี 2551-2553
นอกจากนี้ บริษัทอาจต้องมีการจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 13,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมใน Asian American Coal Inc. (AACI) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มบ้านปูสำหรับธุรกิจด้านถ่านหินในประเทศจีนซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตถ่านหินอยู่ที่ 3.1 ล้านตันต่อปี สัดส่วนการถือหุ้นใน AACI ที่เพิ่มขึ้นจาก 21.6% เป็น 100% นั้นเป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัทในการกระจายสินทรัพย์และปริมาณสำรองถ่านหินเพื่อเพิ่มความสมดุลระหว่างธุรกิจในประเทศไทย อินโดนีเซีย และจีน หลังจากการลงทุนใน AACI มูลค่า 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วจะทำให้เงินกู้สุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 19,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนภายหลังจากการซื้อกิจการซึ่งอยู่ที่ 32% นั้นยังคงต่ำกว่านโยบายของบริษัทที่กำหนดไว้ที่ระดับไม่เกิน 50%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ