บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิมูลค่า 8,800 ล้านบาท (EFAI08OA) ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เป็นระดับ “AA" จากเดิมที่ระดับ “AA-" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการที่สถาบันฯ มีเงินสะสมครบถ้วนเพื่อการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของพันธบัตรโดยฝากเข้าบัญชีฝากทรัพย์และให้อำนาจแก่ผู้แทนผู้ถือพันธบัตรเป็นผู้มีสิทธิในการเบิกถอนเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือพันธบัตรเท่านั้น
อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความคาดหมายที่สถาบันฯ จะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลจากการมีภารกิจหลักในการจัดหาเงินให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยลดผลกระทบของความผันผวนที่มีต่อผู้ใช้น้ำมันโดยรวม
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถาบันฯ จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป แนวโน้มอันดับเครดิตยังรวมถึงการคาดการณ์ว่าการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำกลับมาใช้อีกจะไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีนัยสำคัญ และสถาบันฯ จะยังคงมีอำนาจตามกฎหมายในการเบิกเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและตัวแทนผู้ถือพันธบัตรจะเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวในการเบิกเงินจากบัญชีฝากทรัพย์ไปใช้ชำระหนี้พันธบัตรชุดที่ 3
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ต่อกรณีการออกตราสารหนี้ของสถาบันฯ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการสร้างความมั่นใจว่าสถาบันฯ จะมีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามกำหนด ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติที่จะสนับสนุนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งเพื่อให้สถาบันฯ สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นแก่ผู้ถือตราสารหนี้และเจ้าหนี้ของสถาบันฯ อย่างครบถ้วนตามกำหนดเวลา
โดยหลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานได้มีมติในการปรับเพิ่มเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลจาก 2.50 บาทเป็น 4.00 บาทต่อลิตรตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 แล้ว ในปี 2550 อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ระหว่าง 3.46 บาท-4.0 บาทต่อลิตร ในขณะที่อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ระหว่าง 3.26 บาท-3.70 บาทต่อลิตร ซึ่งจากการคงอัตราเงินส่งจากน้ำมันประเภทต่างๆ ไว้ที่ระดับสูง ทำให้รายได้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจาก 42,032 ล้านบาท (3,503 ล้านบาทต่อเดือน) ในปีงบประมาณ 2549 เป็น 50,923 ล้านบาท (4,244 ล้านบาทต่อเดือน) ในปีงบประมาณ 2550 ถึงแม้ปริมาณการบริโภคน้ำมันทั้งหมดจะลดลงจาก 36,322.9 ล้านลิตรเป็น 34,988.4 ล้านลิตรก็ตาม ซึ่งการบริหารอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนสถานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและทำให้ภาระหนี้ของสถาบันฯ ลดลงก่อนกำหนด โดยสถาบันฯ ได้ชำระหนี้เงินกู้ธนาคารอย่างครบถ้วนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 และทำให้ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2550 มีเพียงภาระหนี้พันธบัตรที่จะครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2551 มูลค่า 8,800 ล้านบาท (พันธบัตรชุดที่ 3) เท่านั้น โดยได้มีการสำรองภาระหนี้ที่เหลือทั้งหมด (เงินต้นและดอกเบี้ย) มูลค่า 9,317 ล้านบาทไว้ครบถ้วนและฝากเข้าบัญชีฝากทรัพย์เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ในข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของสถาบันฯ และผู้ถือพันธบัตรได้ระบุให้ผู้แทนผู้ถือพันธบัตรเป็นผู้มีสิทธิในการเบิกถอนแต่เพียงผู้เดียว โดยการเบิกจ่ายเงินใดใดจะต้องเป็นการกระทำเพื่อและสิทธิประโยชน์ของผู้ถือพันธบัตรชุดที่ 3 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ได้รับการทยอยปรับลดลงจาก 1.50 บาทต่อลิตรเป็น 0.30 บาทต่อลิตร และได้มีการคงอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันดีเซลไว้ที่ 1.50 บาทต่อลิตร และมีการทยอยปรับลดลงเหลือ 0.10 บาทต่อลิตรในเดือนมกราคม 2551 และได้รับการชดเชยในอัตรา 0.30 บาทต่อลิตรจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่สถาบันฯ ไม่มีอำนาจในการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ จากผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงหรืออัตราการชดเชยราคาน้ำมันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดเพิ่มเติมจากการที่รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้หรือค้ำประกันหนี้พันธบัตรของสถาบันฯ ได้ตามกฎหมาย
--อินโฟเควสท์ โดย รัชดา คงขุนเทียน โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--