AMAC มองหาพันธมิตรร่วมตั้งบ.ลีสซิ่งปล่อยกู้ลูกค้าโดยตรงต่อยอดธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 4, 2008 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.อะโกรอินดัสเตรียล แมชชีนเนอรี่ (AMAC) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลภายใต้ยี่ห้อ"สิงห์คะนองนา"มองหาพันธมิตรที่เข้าใจธุรกิจการเกษตรเข้ามาร่วมเปิดธุรกิจลีสซิ่งของตัวเองปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าได้โดยตรง เชื่อช่วยต่อยอดธุรกิจและเพิ่มยอดขายได้ดีขึ้น โดยปีนี้คาดยอดขายเติบโต 20% มาที่ราว 200 ล้านบาท และยังทำกำไรได้ต่อเนื่องแม้ต้นทุนพุ่ง เหตุปรับราคาขายตามได้
นายสุทธิศักดิ์ โล่สวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AMAC กล่าวว่า การหาพันธมิตรเข้ามาร่วมธุรกิจจะต้องพิจารณาผู้ที่จะเข้ามาเสริมให้บริษัทดีขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังให้ความสนใจกับการมีธุรกิจลีสซิ่งเป็นของตัวเองเช่นเดียวกับคู่แข่ง เพราะงานขายสินค้าของบริษัทจำเป็นต้องมีวงเงินสินเชื่อเข้ามาสนับสนุน
"ของคูโบต้า ยันม่าร์ เค้ามีลีสซิ่งของตัวเอง ของเราก็กำลังคิดอยู่ ซึ่งถ้าทำได้ความสามารถในการขายก็จะดีขึ้นทำให้การตัดสินใจของเกษตรกรง่ายขึ้น ตอนนี้ก็ดูอยู่ แต่ต้องดูว่าเงื่อนไขจะเป็นอย่างไร คงเลือกบริษัทเดียวน่าจะดีกว่า"นายสุทธิศักดิ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ปัจจุบันมีบริษัทลีสซิ่งที่อยู่ระหว่างเจรจาเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ 3-4 รายในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อให้กับลูกค้าของบริษัท แต่ยังไม่ได้หารือไปถึงขั้นร่วมทุน ซึ่งแนวทางการคัดเลือกพันธมิตรจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในธุรกิจลิสซิ่ง เพราะธุรกิจทางด้านเครื่องมือเกษตรจำเป็นต้องมีวงเงินปล่อยกู้และเกษตรกรหลายราย จะรอกู้จาก ธ.ก.ส.อย่างเดียวก็ล่าช้าเกินไป และธ.ก.ส.เองก็ไม่สามารถจะจัดให้ได้ทั้งหมด
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า หากมีการขยายธุรกิจลีสซิ่งก็อาจจะจำเป็นต้องหาทุนเพิ่ม ขึ้นกับเงื่อนไขของพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมมือกัน โดยวงเงินสินเชื่อเบื้องต้นนั้นหากคิดจากยอดขายที่ 200 ล้านบาท/ปี การปล่อยสินเชื่อ 3 ปีก็จะต้องการเม็ดเงินประมาณ 600 ล้านบาท
"ยังไม่ได้เร่งรัด มีอะไรที่คุยกันแล้วก็คุยกันไปเรื่อยๆ ก่อน ซึ่งต้องหาคนที่เข้าใจธุรกิจเกษตร เพราะส่วนใหญ่ธุรกิจลีสซิ่งจะปล่อยแต่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ก็ต้องให้เขาเข้าใจว่ารถที่ใช้สำหรับการเกษตรไม่ได้เสี่ยงมาก คนที่ไม่ได้อยู่วงในก็จะคิดว่าเสี่ยง เขาจะบอกว่าเกษตรกรเสี่ยง แต่จริงๆ แล้วเครื่องยนต์กับแทรกเตอร์เป็นอาชีพของเขา ถ้าไม่มีทำงานไม่ได้ แต่พวกรถกระบะ มอเตอร์ไซค์ถ้าไม่มีก็อาศัยอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนที่เข้าใจธุรกิจเกษตร" นายสุทธิศักดิ์ กล่าว
*ปี 51 คาดยอดรายได้โต 20%,เล็งปรับราคาอีกรอบครึ่งปีหลังตามวัตถุดิบ
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องยนต์ดีเซลที่ 200 ล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 129-130 ล้านบาท จากรายได้ของเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น โดยคาดว่าจะมียอดขายเครื่องยนต์ดีเซลในปีนี้ประมาณ 6 พันเครื่อง จากปี 50 ขายได้กว่า 5 พันเครื่อง โดยครึ่งปีแรกน่าจะขายได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 3,000 ตัวแล้ว และครึ่งปีหลังก็มีความเป็นไปได้ที่จะขายได้ตามเป้า
"ช่วงนี้เกษตรกรมีรายได้ดีน่าจะเป็นผลดีต่อบริษัท เพราะตอนนี้ความต้องการเครื่องมือเกษตรเพื่อมาทดแทนแรงงานมีเพิ่มขึ้น อย่างปี 50 ขายได้ 5,000 กว่าตัว ปีนี้น่าจะขายได้ 6,000 ตัว หรือเติบโต 20% จากปีก่อน หรือคิดเป็นรายได้ประมาณใกล้ๆ 200 ล้านบาท"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมีผลกระทบกับยอดขายบ้าง แต่ขณะเดียวกันราคาพืชผลเกษตรก็ดีขึ้นมาก ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรมีเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเกษตรกรสามารถบริหารจัดการภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ก็น่าจะทำให้ภาพรวมปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจุดเด่นของเครื่องยนต์"สิงห์คะนองนา"เป็นระบบไดเรคอินเจ็คชั่นและใช้ไบโอดีเซลได้ 100%
"ในอาชีพการเกษตรไม่ใช่น้ำมันขึ้นอย่างเดียว แต่ราคาพืชผลก็ขึ้นตาม และราคาพืชผลก็ขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันที่ขึ้นด้วย" นายสุทธิศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในแง่กำไรสุทธิจะเป็นอย่างไรนั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้นไปแล้ว โดยบริษัท Out Source วัตถุดิบที่นำมาประกอบเครื่องยนต์มาจากโรงงานเล็กในประเทศที่ผลิตชิ้นส่วนสำเร็จมาให้เพื่อนำมาตกแต่งและประกอบ ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเจรจากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ค่อยๆ ขยับปรับขึ้นราคาเพื่อให้โรงงานต่าง ๆ อยู่ได้ ยกเว้นหัวฉีดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ในด้านราคาขายได้มีการทะยอยปรับขึ้นไปแล้วประมาณ 10% เช่นเดียวกับคู่แข่ง โดยขณะนี้ราคาขายอยู่ที่ 38,000 บาท/เครื่อง จาก 34,000 บาท/เครื่อง และช่วงครึ่งปีอาจะพิจารณาปรับขึ้นอีกหากวัตถุดิบยังปรับตัวสูงขึ้น
"ยังโชคดีที่ราคาขายยังปรับเพิ่มได้ โดยในไตรมาส 3/51 จะปรับอีกหรือไม่ต้องปรับเรื่อยๆ เพราะเวลาวัตถุดิบขึ้นเราก็แจ้งดีลเลอร์ว่าสินค้าล็อตใหม่ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งดีลเลอร์เองก็เข้าใจเพราะผู้ประกอบการในไลน์การผลิตพวกนี้ปรับขึ้นทุกคน ไม่ใช่มีใครยืนที่ไม่ปรับราคา"
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตเต็มที่ 10,000 เครื่อง/ปี แต่ใช้กำลังผลิตจริงประมาณ 500 เครื่อง/เดือน กำลังผลิตที่มีอยู่จึงเพียงพอไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิต และไม่ต้องลงทุนใหม่ในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยบริษัทจะเน้นการทำการตลาดและงานขายมากขึ้น
"กำลังการผลิตเต็มที่อยู่ที่ 900 ตัว/เดือน แต่ตอนนี้เราผลิตจริงประมาณ 500 ตัว/เดือน โดยกำลังการผลิตปีนี้ตั้งไว้ 60% และยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ทำให้ 2 ปีนี้ยังไม่ต้องลงทุนมาก" นายสุทธิศักดิ์ กล่าว
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทมีมีขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 80 กว่าล้านบาท ตามแผน 3 ปีน่าจะล้างขาดทุนสะสมหมด โดยจะนำกำไรมาใช้แก้ปัญหาขาดทุนสะสม ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (48-50) เรามีกำไรติดต่อกันมา และปีนี้ก็คาดว่าจะเป็นกำไรสุทธิด้วย ขณะที่ราคา BV อยู่ประมาณ 0.50 บาท/หุ้น
"เป็นธรรมดาที่หุ้นก็ไม่ค่อยมีฟรีโฟลทเราก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปก่อน ก็คงมุ่งเน้นเรื่องการทำธุรกิจแต่การที่เรากลับเข้าไปเทรดก็ทำให้ภาพพจน์หรือตัวของบริษัทได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น ตอนนี้ซัพพลายเออร์ที่คุยกับเราก็มีความมั่นใจว่าบริษัทมีฐานะดีขึ้น ธนาคารก็สนับสนุนเรามากขึ้นเรื่องเงินทุนหมุนเวียน"นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ