นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย คาดว่า ในปี 51 กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์จะสร้างรายได้ให้เครือซิเมนต์ไทย ประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาทจากปีก่อนที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในปีนี้คือราคานาฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 100% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 600-700 เหรียญ/ตัน ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่ออัตรากำไรขั้นต้น และจากการที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง เฉลี่ยทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 130-140 เหรียญ/บาร์เรล ทำให้คาดว่าราคานาฟทาในครึ่งปีหลังยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์มองว่าไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามได้ทัน
“จากการที่ราคาน้ำมันสูงและนาฟทาก็สูงตามราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จะถูกผลักดันให้ปรับขึ้นแต่ก็ไม่ทันกับนาฟทา ทำให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ กลุ่มที่ใช้ก๊าซในการผลิต บริษัทจึงต้องควบคุมต้นทุนโดยการลดกำลังผลิตเหลือ 90% จากกำลังผลิตรวม 1 ล้านตัน/ปี และพยายามปรับปรุงการผลิตโดยการใช้ก๊าซ LPG ซึ่งเต็มที่สามารถใช้ได้ 30-35% ของกำลังการผลิต ซึ่งปัจจุบันใช้ไปแล้ว 15%" นายชลณัฐ กล่าว
นอกจากนั้น บริษัทได้มีการลงทุนประมาณ 1.3 พันล้านบาท เพื่อประหยัดพลังงานด้านไฟฟ้า น้ำ โดยคาดว่าภายใน 3 ปีน่าจะคืนทุน
นายชลณัฐ กล่าวว่า ถึงบริษัทจะประสบปัญหาด้านต้นทุนวัตถุดิบ แต่ในปีนี้กลุ่มเคมีภัณฑ์ยังใช้งบลงทุนสูงถึง 80% ของงบลงทุนในเครือฯ ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีโครงการลงทุนที่อิหร่าน การปรับปรุงและซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม โดยขณะนี้บริษัทยังมีการลงทุนต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาการล่าช้าในส่วนการก่อสร้างท่อส่ง การขาดบุคลากร ทำให้ช้าไปจากแผนที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 51 เป็นต้นปี 52 แต่ในส่วนของงบลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการตกลงค่าก่อสร้างเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนการลงทุนในอินโดนีเซีย ปีนี้มีปัญหาภัยธรรมชาติทำให้บริษัทต้องหยุดดำเนินการไป 3 เดือน เพื่อซ่อมแซมแนวกั้นคลื่น ทำให้ผลประกอบกอบการปีนี้ประสบปัญหาขาดทุนได้
ขณะที่โครงการลงทุนในวียดนามยังไม่เกิดในปีนี้ เพราะกำลังรอใบอนุญาตจากทางการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.5-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคงต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 3-4 ปีจึงจะแล้วเสร็จในปี 2555-2556 ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะเป็นแห่งแรกในเวียดนาม คุ้มค่ากับการลงทุนเพราะเวียดนามเป็นตลาดใหญ่ และแม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศขณะนี้ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน
อีกทั้ง บริษัทได้วางแผนพัฒนาสินค้าพิเศษเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือ HVA High Value-Added Product โดยใช้เงินพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วง 5 ปีกว่า 1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเคมีภัณฑ์ประมาณ 8.7 พันล้านบาทในปี 51 และมีเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายเป็น 2.5 หมื่นล้านบาทภายในปี 56 จะทำให้สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจาก HVA กว่า 30% ภายในปี 55 จากปัจจุบันที่ 20% เป็นการรองรับช่วงขาลงของเคมีภัณฑ์และรับราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายชลณัฐ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีเคิล คอมเพล็กซ์ ของ บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ว่า อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/53 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตสินค้า HVA เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้มีกำลังผลิตโอเลฟินส์ประมาณ 1.7 ล้านตัน/ปี และผลิตภัณฑ์ HVA อื่นๆ อีก 7 แสนตัน/ปี
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--