นักวิเคราะห์ มองแนวโน้มและทิศทางอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงาน ในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังสดใสจากปริมาณน้ำมันในโลกจะลดน้อยลง ส่งผลดีต่อหุ้น บมจ.ปตท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) และ หุ้นบมจ.บ้านปู(BANPU) แต่หุ้น บมจ.ปตท.(PTT)รับผลกระทบหนักสุด เพราะต้องแบกรับภาระอุดหนุนแทนภาครัฐ ทั้งนี้ ประเมินว่าราคาน้ำมันโลกปีหน้าอ่อนตัวลง
นางสาวธนพร วิศรุตพงษ์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มพลังงาน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า PTT ได้รับผลกระทบมากที่สุดหลังต้องเข้าไปอุดหนุนเรื่องก๊าซและน้ำมัน และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องอุดหนุนด้านใดเพิ่มอีก แต่บริษัทลูกอย่าง PTTEP ต้องเข้ามาช่วยเหลือค่าเอฟทีจากราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นและการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซถึง 70% แต่เชื่อว่าไม่กระทบต่อผลประกอบการของ PTTEP ซึ่งมี EBITDA สูงถึง 70% แต่อาจกระทบด้านจิตวิทยาการลงทุน
"PTT ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งอุดหนุนเรื่องน้ำมัน ก๊าซ ปีนี้อุดหนุน LPG ไป 2 แสนตันหรือ 4.2 พันล้านบาท ปี 52 หากนำเข้า LPG อีก 8 แสนตัน ต้องอุดหนุน 1.7 หมื่นล้าน แต่เป็นการอุดหนุนทางบัญชีและกระทรวงพลังงานตกลงจะจ่ายคืนแต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อใด " นางสาวธนพร กล่าวในงานสัมมนา"ทิศทางอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน:แนวโน้มและทิศทางอุตสาหกรรมกลุ่มพลังงานมองผ่านมุมนักวิเคราะห์"
ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย ให้มูลค่าเหมาะสมหุ้น PTTEP ปี 51 ที่ 236 บาท ส่วน BANPU ให้ไว้ที่ 590 บาท เพราะราคาถ่านหินยังสูง เนื่องจากปัญหาความแออัดที่ท่าเรือประเทศออสเตรเลีย รวมทั้งผลจากราคาน้ำมันสูงด้วย และมองว่าราคาถ่านหินจะสูงถึงปี 53
นายธีรภัทร เมธานุเคราะห์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีมิโก้ (ZMICO) กล่าวว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 50 จะอยู่ที่ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล และปี 52 ราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งยังคงอยู่ในราคาสูงต่อเนื่อง ตามปริมาณน้ำมันดิบของโลกที่ลดน้อยลง
สำหรับประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติและปริมาณน้ำมันดิบสำรองได้อีก 25 ปี แม้ว่าไทยจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้เอง แต่หลังจากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในปริมาณสูง อาจทำให้ต้องนำเข้าก๊าซจากตะวันออกกลางในปี 54 โดยเฉพาะ LPG ที่ตะวันออกกลางยังไม่ผลิตมากนัก เพราะว่ามีปริมาณน้ำมันดิบมากประกอบกับราคาน้ำมันดิบสูงกว่าด้วย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบของโลกยังคงรองรับการใช้ได้อีกอย่างน้อย 40-50 ปี ส่วนถ่านหินยังคงเป็นพลังงานที่ยังไม่มีโอกาสขาดแคลนเชื่อว่าจะสามารถรองรับการใช้ได้ถึง 200 ปี
ส่วนกลุ่มโรงไฟฟ้าขณะนี้ไม่มีเรื่องราวใหม่ที่จูงใจนักลงทุนมากนักราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตามภาพรวมตลาดหลักทรัพย์แต่หากมองในแง่ผลกระทบไม่ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่เพิ่มขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าได้รับการชดเชยจาก กฟผ.จึงไม่ต้องแบกรับต้นทุนพลังงานตามค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าหุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากการอุดหนุนค่าไฟฟ้า คือ หุ้น PTTEP ที่เป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ต้องเข้ามอุดหนุนประมาณ 4 เดือน แต่ PTTEP จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีมาร์จิ้นสูงจากราคาน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนกลุ่มโรงกลั่นแม้ว่าจะมีแนวโน้มค่าการกลั่นลดลงแต่หุ้น BCP ยังน่าสนใจจากการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจะทำให้สามารถผลิตน้ำมันเตาเหลือ 9% จากเดิม 30% และสามารถผลิตเบนซิน และดีเซลที่มีราคาสูงได้มากขึ้น
ด้านนายชัยพัชร ธนวัฒโน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มพลังงาน บล.ทิสโก้ กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นจะเสียประโยชน์จากการที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าการกลั่นได้ทันกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แต่ยังเชื่อว่าอนาคตจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมัน โดยไตรมาส 2/51 คาดว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยที่ 8 ดอลลาร์/บาร์เรล ถือว่ายังสูงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/51 และทั้งปี 51 คาดว่าค่าการกลั่นจะอยู่ที่ระดับ 7-8 ดอลลาร์/บาเรล แต่ก็ต้องประเมินถึงโรงกลั่นใหม่ที่อินเดีย ซึ่งคาดว่าจะเปิดในไตรมาส 3/51ซึ่งยังเชื่อว่าจะไม่กระทบมากนัก
ส่วนราคาถ่านหินอาจอ่อนตัวลงในช่วงที่จีนมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ประกอบกับราคาถ่านหินพุ่งสูงจนใกล้เคียงกับราคาก๊าซ ปัจจุบันราคาถ่านหินประมาณ 190 ดอลลาร์/ตันใกล้เคียงกับราคาก๊าซปากหลุม ทำให้คนหันมาใช้ก๊าซมากกว่าเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปริมาณถ่านหินในตลาดโลกยังตึงตัว และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากราคาถ่านหินโคยตรงคือ BANPU ที่ปัจจุบันราคาลดลงตามตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 13-15% ถือเป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน ส่วนตัวอื่นๆยังคงให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน
แนะนำให้ลงทุนในหุ้น BANPU ที่ทิสโก้มองมูลค่าที่เหมาะสมปี 51 ที่ 504 บาท ส่วนหุ้น PTT ยังได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงเรื่องการอุดหนุนทั้ง NGV , LPG และค่าการกลั่น
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--