ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาวะหุ้นไทยมีโอกาสเกิดภาวะกระทิงได้หากสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ทำให้ยังเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนจะช้อนซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และลงทุนในช่วงสั้น รอพลิกจากภาวะหมีไปสู่กระทิง
ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเคยเผชิญกับภาวะหมีมาแล้วหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ภาวะ Super Bear ครั้งแรกในปี 2522 ดัชนีติดลบไป 42% จากผลกระทบวิกฤติของบริษัทเงินทุน โดยเฉพาะกรณีราชาเงินทุนซึ่งเกิดขึ้นจากการปั่นหุ้น และก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องตามมา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนนักลงทุนยังมีไม่มาก นอกจากนี้ การที่ดัชนีตกลงมามากส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ตลาดหุ้นไทยเฟื่องฟูมากในช่วงก่อนหน้านั้น
และครั้งถัดมา ที่หุ้นตกหนักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หลังปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว โดยดัชนีหุ้นไทยร่วงลงถึง 55% จาก 832 จุด เหลือเพียง 373 จุด
และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ค.2551 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 721.13 จุด โดยปิดลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี (เมื่อเทียบจากระดับปิดที่ 719.14 จุด ณ วันที่ 25 พ.ค. 50) หรือขยับลงร้อยละ 2.95 จากระดับปิดที่ 473.03 จุด ในสัปดาห์ก่อน และร่วงลงร้อยละ 15.96 จากสิ้นปีก่อน
"ตลาดหุ้นไทยยังเคยเผชิญกับภาวะหมีมาแล้วหลายครั้ง และภายหลังภาวะหมีมักจะตามมาด้วยภาวะกระทิง (Bull Market)เสมอ แต่ช่วงระยะเวลาในการเกิดภาวะกระทิงอาจเป็นช่วงสั้นๆ หรือยาวนานหลายเดือนนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหนุนต่างๆ" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในเรื่องของจังหวะเวลาในการเข้าซื้อขาย ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจะยั่งยืนเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหนุนหลายปัจจัยว่าจะมีความชัดเจนและต่อเนื่องได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการปรับตัวของตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค
--อินโฟเควสท์ โดย ตลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--