นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าไม่คิดว่าจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้มากไปกว่าที่คาดการณ์นัก แต่เป็นการบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชนด้วยการลดค่าใช้จ่ายลง เพื่อให้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายส่วนอื่น อาจพยุงให้เศรษฐกิจไม่ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.5-6% มากกว่า
"หากไม่มีมาตรการอะไรมาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลง จะทำการบริโภคของประชาชนลดลงและจะทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจลดลงด้วย"นายณัฐพล กล่าว
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติถอนเม็ดเงินลงทุนออกจากประเทศไทย ทั้งที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น โดยจะเห็นว่าตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นออกไปแล้วเกือบ 7 หมื่นล้านบาท และแม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะซื้อสุทธิ 5 หมื่นล้านบาทในตลาดตราสารหนี้ แต่ก็ถือว่าไม่ใช่จำนวนมากพอที่จะชี้ชัดได้ว่าเป็นการย้ายเงินจากตลาดหุ้นมาลงทุนตราสารหนี้แทน
เพราะเงินต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นสูงกว่าตราสารหนี้มากนัก
และในเดือนมิถุนายนกลับเห็นว่าการถือครองตราสารหนี้สุทธิของต่างชาติลดลงเหลือเพียง 8.64 หมื่นล้านบาทจากเดือนพฤษภาคมที่ถือครองสุทธิ 9.11 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงสุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการยกเลิกมาตรการสำรอง 30%
"ยอดถือครองต่างชาติที่เริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากประกาศยกเลิก 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวโน้ทมเศรษบกิจชะลอตัว ทำให้นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ระยะยาวเลือกที่จะลดความเสี่ยงในช่วงปิดงบการเงินกลางปี จึงเทขายตราสารหนี้ออกมา ประกอบกับมีปัยหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศด้วย ขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนของนโยบายดอกเบี้ย ทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ผันผวนด้วย"นายณัฐพลกล่าว
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 16 กรกฎาคม นายณัฐพล คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไม่เช่นนั้นอาจมีคำถามตามมาได้ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0-3.5% แต่ขณะนี้เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.6% แล้ว แม้ว่าจะมีความเห็นขัดแย้งว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมาก ทำให้ไม่จูงใจผู้ฝากเงิน จะยิ่งเป็นเร่งเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น หากมีการนำเงินออมมาใช้สอยมากขึ้นด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย ตลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--