นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA)คาดว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ยังคงมีปริมาณซื้อขายใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่มากระตุ้นให้การซื้อขายเพิ่มขึ้น แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลในแง่บวกให้กับตลาดตราสารหนี้ อีกทั้งอุปทานในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่มีมากพอที่จะกระตุ้นให้คึกคักได้อย่างชัดเจน
ในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศ คาดว่ายังมีอุปสงค์เข้ามาซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องแต่อาจจะเบางบางลงกว่าช่วงครึ่งแรกของปี จากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(FED)และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่น่าจะแรงเท่ากับ FED ดังนั้นนักลงทุนต่างประเทศอาจหันไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐ เพราะผลตอบแทนดึงดูดกว่า
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นไปได้อีกในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 51 มีปริมาณการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 87 ด้วยมูลค่าการออกตรา
สารหนี้ใหม่ทั้งสิ้น 5,264,083.06 ล้านบาท พันธบัตร ธปท. เป็นตราสารหนี้ที่มีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่สูงสุด มูลค่า 4,120,769.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 117 รองลงมาได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น มูลค่า 550,218.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.38
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล มีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเดียวกันค่อนข้างมาก ด้วยมูลค่าการออก 133,097.87 ล้านบาท เทียบกับมูลค่า 17,511 ล้านบาทของปี 2550
พันธบัตรต่างประเทศมีมูลค่าการออกใหม่ทั้งสิ้น 11,088 ล้านบาท
หุ้นกู้ภาคเอกชน ครึ่งปีแรกออกหุ้นกู้ใหม่ทั้งสิ้น 131,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 71,809 ล้านบาทของปีก่อน กลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่ออกหุ้นกู้ใหม่มากที่สุด ด้วยมูลค่า 78,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 4,690 ล้านบาทของช่วงเดียวกันเมื่อปี 2550 รองลงมาได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง มูลค่า 20,000 ล้านบาท หุ้นกู้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ส่วนใหญ่
เป็นหุ้นกู้ที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือที่ AA ประมาณร้อยละ 58 ของหุ้นกู้ที่ออกใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปี ลงมา
สำหรับปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองมีมูลค่าทั้งสิ้น 20,197,362.84 ล้านบาท แบ่งเป็นปริมาณการซื้อแบบ Outright มูลค่า 8,573,321.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 77 และปริมาณการซื้อขายแบบ Financing และอื่น ๆ มูลค่า 11,624,041.30 ล้านบาท ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาเฉพาะการซื้อขายแบบ Outright มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 70,273.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 39,953.60 ล้านบาทของครึ่งแรกปี 2550
“แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะการซื้อขายในตราสารหนี้ระยะยาว พบว่ามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 6,136.24 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกับของปีก่อน ทั้งนี้ การซื้อขายแบบ Outright กว่าร้อยละ 87 เป็นการซื้อขายในพันธบัตร ธปท. ด้วยมูลค่า 7,470,697.80 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล มูลค่า 667,066 ล้านบาท และตั๋วเงินคลัง ตามลำดับ" นายณัฐพลกล่าว
สำหรับหุ้นกู้ภาคเอกชนมีมูลค่าการซื้อขาย 42,869.98 ล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นซื้อขายหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อระดับ A ขึ้นไป และอายุสั้น ๆ ไม่เกิน 5 ปี ส่วนพันธบัตรรัฐวิสาหกิจยังคงมีการซื้อขายเบาบาง ด้วยมูลค่า 36,521.83 ล้านบาท ตราสารหนี้ระยะสั้น มูลค่า 17,516.75 ล้านบาท
ส่วนพันธบัตรต่างประเทศถึงแม้จะมีปริมาณการออกใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 3 เท่า แต่มูลค่าการซื้อขายยังคงเบาบาง หรืออยู่ที่ 2,163.10 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในตลาดแรก และถือจนครบกำหนดมากว่าจะนำมาซื้อขายในตลาดรองเหมือนกันตราสารหนี้ประเภทอื่น ๆ
ด้านอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีความผันผวนตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และอัตราดอกเบี้ยในประเทศ แต่จากการที่ราคาน้ำมันโลกที่ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ รวมถึงไทยทำให้ทิศทางการมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนไปจากเดิม และมีความไม่แน่นอนสูงที่ว่า ธปท.จะใช้มาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อหรือไม่ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งและปรับขึ้นต่อเนื่อง
--อินโฟเควสท์ โดย ตลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--