บมจ.ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม(TKT)เชื่อยอดขายปี 51 จะเกินกว่าเป้าเหมายที่วางไว้ 1 พันล้านบาท และกำไรสุทธิจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไร 26.13 ล้านบาท เนื่องจากมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาหนุน ดันยอดผลิตเพิ่มเต็มเพดาน สวนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมทั้งยังรักษามาร์จิ้นไว้ได้ 17-18% ขณะที่คณะกรรมการบริษัทเตรียมหารือแนวทางเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ส.ค.นี้ โดยอาจดึงพันธมิตรใหม่ร่วมงานด้วย
"ยอดขายเรามาเร็วกว่าที่เราคิด ซึ่งสวนทางกับภาพรวมของยอดขายรถยนต์ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปริมาณรถยนต์ที่น้อยลงจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว"นายจุมพล เตชะไกรศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ TKT กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ดังนั้น ยอดขายของบริษัทในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ 1 พันล้านบาท และมากกว่าปีก่อนที่มียอดขาย 889 ล้านบาท เนื่องจากความสามารถในการผลิตในปัจจุบันใกล้เต็มที่ 1.2 พันล้านบาทเกิดจากยอดการผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้นในปีนี้ ถือว่าสวนทางกับภาพรวมการเติบโตธุรกิจรถยนต์ที่ชะลอลงในช่วง พ.ค-ก.ค.ที่เกิดจากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจชะลอตัว
ขณะที่กำไรสุทธิปีนี้ก็เชื่อว่าจะทำได้สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 26.13 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตตามรายได้จากสั่งสินค้าจากลูกค้าใหม่ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพภายใน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและลดสินค้าเสียหายลงไปได้ อีกทั้งไม่ได้รับผลกระทบจากราคาเม็ดพลาสติกที่ผันผวน เพราะบริษัทใช้เม็ดพลาสติกเฉพาะที่ราคาไม่ได้ผันผวนมากนัก ทำให้เชื่อว่าในปีนี้ยังรักษา Gross Margin หรืออัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 17-18% ได้
นายจุมพล กล่าวว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะมาจากแม่พิมพ์รถยนต์ทั้งที่เป็น Backlog จากปีก่อนที่ทยอยผลิตและส่งมอบในปีนี้ รวมทั้งออเดอร์แม่พิมพ์ใหม่ที่เข้ามา โดยคาดว่าจะมียอดขายจากแม่พิมพ์มากกว่า 650 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ยอดขายอยู่ที่ 540 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมียอดขายที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องซักผ้าที่ส่งออกให้กับ BOSCH เพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดจะมียอดขายที่ 300 กว่าล้านบาทจากปีก่อนที่มียอดขาย 200-250 ล้านบาท
*บอร์ดเตรียมหารือเพิ่มการผลิตใน ส.ค.-สรุปพันธมิตร Q3 หรือ Q4
นายจุมพล กล่าวว่า จากกำลังการผลิตที่ใกล้เต็มนั้นส่งผลให้บริษัทเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจในปีหน้า ซึ่งในขณะนี้บริษัทได้วางแนวทางในการขยายงานไว้ 2-3 แนวทาง คือการขยายพื้นที่เพิ่มจากที่เดิมซึ่งบริษัทยังมีพื้นที่เหลืออยู่ หรือแนวทางการลงทุนซื้อที่ดินใหม่เพื่อสร้างโรงงานซึ่งแนวทางนี้อาจจะจำเป็นถึงการเพิ่มทุนเพราะใช้เงินมาก
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงจะต้องนำเข้าหารือกับคณะกรรมการบริษัทในช่วงต้นเดือน ส.ค นี้ และจะรู้บทสรุปในช่วงปลายเดือน ส.ค ว่าแนวทางในการเพิ่มกำลังการผลิตจะเป็นรูปแบบใด รวมทั้งนำเรื่องจะมีการหารือในเรื่องของพันธมิตรด้วยที่ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจาซึ่งคาดจะได้ข้อสรุปปลายไตรมาส 3-ต้นไตรมาส 4 ปีนี้
"เรามียอดออร์เดอร์เข้ามาต่อเนื่อง แต่ในปี 2552-2553 ภาพรวมจะเพิ่มขึ้นและเติบโตมากทำให้เราต้องเร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับอนาคตแต่ก็ต้องคิดให้รอบคอบว่าจะเลือกแนวทางใด และต้องดูแนวโน้มลูกค้าด้วยหากชัดเจนก็คงจะเลือกการขยายโรงงาน" นายจุมพลกล่าว
นายจุมพล กล่าวต่อว่า บริษัทคงยังไม่หาธุรกิจใหม่ๆเพิ่มในเร็วๆนี้ เพราะธุรกิจการผลิตแม่พิมพ์และธุรกิจไฟฟ้ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากและนานภายใต้ความต้องการของผู้บริโภคที่ยังต้องการใช้รถยนต์ ถึงแม้ตอนนี้เศรษฐกิจจะชะลอส่งผลให้ปริมาณการขายจะลดลงก็ตาม แต่ในไตรมาส 2/51 บริษัทมียอดขายใกล้เคียงกับไตรมาส 1/51 ทั้งๆที่เป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจ
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--