น.ส.เพชรรัตน์ ฉายานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี บมจ.ลานนารีซอร์สเซส(LANNA)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ผลจากการถูกยกเลิกสัมปทานเหมืองถ่านหินของ PT. CITRA HARITA MINERAL(CHM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในอินโดนีเซีย จะทำให้กำไรของบริษัทในปีนี้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากปริมาณผลผลิตถ่านหินจากเหมืองดังกล่าวจะต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในระดับ 1 ล้านตัน แต่กำไรในปีนี้ก็ยังสูงกว่าปีก่อน
"กระทบกับการผลิตขายถ่านหินในปีนี้ เพราะเดิมคาดว่าจะผลิตขายถ่านหินจากแหล่งนี้ประมาณ 1 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งผลิตไปได้ประมาณ 7 เดือนก็ต้องหยุดทันที ส่วนที่เหลือก็คือกำไรที่หายไป กระทบกับประมาณการของปีนี้คงจะลดต่ำลง แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้วคงจะไม่ต่ำกว่า"น.ส.เพชรรัตน์ กล่าว
อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ก่อน CHM ได้รับแจ้งจาก PT. CAHAYA TIARA (CT) (ชื่อเดิม "CV. CAHAYA TIARA")ว่าศาลฎีกาแห่งประเทศอินโดนีเซียพิพากษาเพิกถอนสัมปทาน KP LICENSE ที่ CT ให้ CHM เช่าช่วงตามสัญญา CMCA ตามข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับผู้ถือสัมปทานเดิมในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ CHM ต้องหยุดการทำเหมืองถ่านหินออกจำหน่ายในเขตสัมปทานดังกล่าวทันที
น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ผลจากที่เหมืองแห่งที่ 2 ต้องหยุดผลิตตั้งแต่ 17 ก.ค.51 ก็จะมีผลต่อการผลิตและจำหน่ายถ่านหินของบริษัทตั้งแต่ไตรมาส 3/51 เป็นต้นไป แต่ทั้งปีรายได้ก็ยังไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากราคาถ่านหินในปีนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าปีนี้กำไรสุทธิของบริษัทน่าจะต่ำกว่าประมาณการ แต่ในระยะยาวคงไม่กระทบมากนัก เพราะปริมาณถ่านหินสำรองในแหล่งนี้มีน้อย เนื่องจากเป็นแหล่งเล็ก และเป็น KP License ซึ่งเป็นสัมปทานในลักษณะการเช่าช่วงต่อ หากไม่เกิดเหตการณ์ที่ถูกยกเลิกสัมปทานก็คาดว่าแหล่งนี้คงจะผลิตจำหน่ายได้อีก 1 ปี่เท่านั้นคือปีหน้าเต็มๆ จากนั้นก็คงจะหมด
"ปีนี้กำไรสุทธิอย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วถ้าไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามากระทบอีก รายได้ก็จะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วเนื่องจากราคาขายปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 50-60 เหรียญฯ/ตัน ซึ่งก็ไม่หวือหวามากเนื่องจากเรา fix ราคาไปหมดแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และก็จะมีราคา spot ประมาณ 40% ที่จะขายในปีนี้ จากปีที่แล้วราคาขายเฉลี่ยที่ 30 กว่าเหรียญฯ/ตัน" น.ส.เพชรรัตน์ กล่าว
งวดปี 50 LANNA มีรายได้รวม 6,038.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 9.90 และมีกำไรสุทธิ 372.77 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.91
ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน ประเมินผลจากการถูกยกเลิกสัมปทานของ CHM ทำให้กำลังการผลิตในปี 51 ลดลงจาก 2.75 ล้านตัน เป็น 2.25 ล้านตัน หรือลดลง 17% และในปี 52 จาก 3.5 ล้านตัน เหลือ 2.5 ล้านตัน หรือลดลง 29% ผลกระทบดังกล่าวจะเริ่มชัดเจนในผลประกอบการ H2/51 ทำให้ปรับประมาณการผลประกอบการปี 51-52 ลดลง โดยคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ 436 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิมประมาณ 17% แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตจากปี 50 กว่า 17%
*เหมือง 3 เริ่มผลิต Q4/51 ราวแสนตัน ก่อนเพิ่มเป็นล้านตันปีหน้า
น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ถึงแม้เหมืองที่ 2 ต้องหยุดไปแต่บริษัทยังมีเหมืองที่ 3 ที่กำลังจะเริ่มผลิตราวไตรมาส 4/51 แหล่งนี้เป็นความหวังของบริษัท เนื่องจากคาดว่าน่าจะมีปริมาณสำรองค่อนข้างสูงถึง 10-20 ล้านตันขึ้นไป คงจะอยู่ได้อีกหลายปี เบื้องต้นเริ่มผลิตในไตรมาส 4/51 ประมาณ 1 แสนตัน แต่ปี 52 ทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณกว่า 1 ล้านตัน โดย full capacity จริงๆน่าจะสูงไปถึง 2-3 ล้านตัน/ปี แต่ปีแรกๆ คงจะผลิตในระดับประมาณ 1 ล้านตันกว่าๆ ไปก่อน
"เหมืองที่ 2 หยุดไปการส่งมอบก็หยุดทุกอย่างเพราะเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งระบุอยู่ในสัญญาอยู่แล้วลูกค้าก็ไม่สามารถมาเคลมอะไรได้เนื่องจากเป็นคำสั่งศาลไม่ได้เกิดจากความผิดของบริษัท ส่วนเหมืองที่ 3 จะไม่มีปัญหานี้น่าจะ run ได้ตามปกติ เพราะเราถือประทานบัตรเอง"
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปริมาณผลผลิตของเหมืองแห่งที่ 3 ที่ผลิตเต็มที่ในปีหน้า คงจะไม่สามารถทดแทนผลผลิตจากเหมืองแห่งที่ 2 ได้ทั้งหมด เพราะเหมืองแห่ง 3 จะผลิตตามประมาณการเดิมที่ 1.5 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตจากเหมืองแห่ง 2 จะหายไปจากประมาณการ 1 ล้านตัน แต่ก็เชื่อว่าราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้กำไรออกมาค่อนข้างดีในปีหน้า
ทั้งนี้ ในปี 52 บริษัทตั้งเป้าผลิตและจำหน่ายถ่านหินรวม 2 เหมืองอยู่ที่ 2-3 ล้านตันตามแผนเดิม โดยจะได้ผลผลิตถ่านหินจากเหมืองที่ 3 เข้ามาเพิ่ม
"ราคาขายในปีนี้ถ้าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เหมือนกับราคาน้ำมันตอนนี้ที่เริ่มลงเยอะ แต่ถ่านหินยังนิ่งอยู่ ยังไม่เป็นขาลงก็เชื่อว่าปีหน้าน่าจะดี"น.ส.เพชรรัตน์ กล่าว
บริษัทมองว่าราคาถ่านหินปีนี้ยังทรงตัวสูง เพราะราคาขณะนี้สูงกว่า 100 เหรียญฯ/ตัน ถึงแม้ราคาถ่านหินจะปรับลงมาบ้างในช่วงสั้น ๆ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ลดลงแบบฮวบฮาบ ซึ่งการที่หุ้น LANNA ที่ปรับลดลงเพราะข่าวเหมืองแหล่งที่ 2 หยุดผลิต ไม่น่าจะเกี่ยวกับราคาถ่านหิน
*ธุรกิจเอทานอลยังพอไปไหวแม้ต้นทุนพุ่ง แต่ได้แรงสนับสนุนจากภาครัฐ
น.ส.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ธุรกิจเอทานอลครึ่งปีหลังราคาขายเริ่มดีขึ้น เนื่องจากบริษัทได้ fix ราคาต้นทุนโมลาสไว้ถึง 60% ส่วนอีก 40% ต้องซื้อในราคาตลาด ดังนั้นในช่วงปลายปีต้นทุนก็จะสูงขึ้นบ้าง อาจจะทำกำไรให้กับเราได้ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่ายังพอไปได้ ซึ่งบริษัทยังเดินเครื่องผลิตอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลเข้ามาส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่ราคาไม่ค่อยเป็นแรงดึงดูดผู้ประกอบการมากนัก จะเห็นหลายผู้ประกอบการก็ต้องหยุดตัวเองไปโดยเฉพาะที่ผลิตโดยมันสำปะหลัง เพราะราคามันสำปะหลังไม่ยอมลง แต่เราโชคดีที่ฟิกราคาไว้ ก็ยังผลิตต่อไปได้
"ต้นทุนมันสำปะหลังแพงมากและยังไม่รวม cost อื่นๆ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐถึงบีบให้ขายในราคา 17-18 บาท/ลิตร ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันไปถึงขนาดนี้แล้ว น่าจะขายได้ราคาดีกว่านี้" น.ส.เพชรรัตน์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--