"ทริส"คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ CPN ที่ระดับ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 31, 2008 08:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ที่ระดับ “A+"  ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" 
โดยอันดับเครดิตสะท้อนความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจพัฒนาศูนย์การค้าในประเทศไทย ความสำเร็จและผลงานในการบริหารพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้า ความสม่ำเสมอของกระแสเงินสดจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ ตลอดจนนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง
ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงแผนการขยายงานของบริษัทที่มีค่อนข้างมาก ความเสี่ยงในการต่อสัญญาเช่าที่ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ตลอดจนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลงเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานภาพทางการตลาดของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาในธุรกิจบริหารพื้นที่ค้าปลีกโดยการขยายสาขาใหม่และซื้อกิจการศูนย์การค้าที่มีอยู่เดิม แม้จะมีแผนการลงทุนที่สูงในระหว่างปี 2551-2553 แต่ก็คาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังโดยการรักษาอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1 เท่า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 32% รองลงมาคือ บริษัท เซ็นทรัล โฮลดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 27% การเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นผู้เช่าพื้นที่รายสำคัญ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา พื้นที่ค้าปลีกของบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.9% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของพื้นที่ค้าปลีกรวมในเขตกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 4.2% ต่อปี
ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าจำนวน 10 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดสำคัญๆ และเป็นผู้ประกอบการอันดับ 1 ของประเทศในธุรกิจพื้นที่ค้าปลีก โดยมีพื้นที่รวม 697,034 ตารางเมตร (ตร.ม.) คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่ค้าปลีกถึง 23% ลดลงจาก 28% ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังการเปิดให้บริการของศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ ในช่วงปลายปี 2551 และเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช ในช่วงต้นปี 2552 ตามลำดับแล้ว จะส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทปรับเพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทเซ็นทรัลพัฒนามีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราการเช่าพื้นที่ในระดับสูงมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีการเติบโตจากรายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าสาขาเดิมอย่างสม่ำเสมอ บริษัทมีอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยของศูนย์การค้าทั้ง 10 แห่งที่ระดับ 94.4% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และอยู่ที่ระดับ 95.7% ณ เดือนมีนาคม 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเช่าที่เพิ่มขึ้นภายหลังการปรับปรุงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา รามอินทรา และเซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์ บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าสาขาเดิมเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยอยู่ที่ระดับ 13% ในปี 2549 และ 14% ในปี 2550 สัดส่วนรายได้จากอาคารสำนักงานก็เพิ่มสูงขึ้นจาก 3.8% ของรายได้รวมในปี 2547 เป็น 9.5% ของรายได้รวมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2551 ภายหลังการเปิดให้บริการของอาคารสำนักงานเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า ทาวเวอร์ บี
บริษัทมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังโดยเห็นได้จากวินัยในการดำรงอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ที่ระดับไม่เกิน 1 เท่า จากแผนการขยายธุรกิจในช่วงปี 2551-2553 บริษัทมีความต้องการเงินลงทุนประมาณ 6,000-10,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ แผนการให้เช่าหรือเช่าช่วงศูนย์การค้าที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทแก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุนไว้ได้ตามเป้าหมาย การเปิดศูนย์การค้าใหม่อีก 4 แห่งภายในปี 2552 น่าจะช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปหากศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ไม่ได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย
อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคถดถอยลง ในเดือนมีนาคม 2551 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.7 แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงโดยอยู่ที่ระดับ 78 ในเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงปลายปี 2550 ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ