นายชัยภัทร ศรีวิสารวาจา ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บล.ซีมิโก้(ZMICO)เปิดเผยว่า บริษัทชะลอแผนหาพันธมิตรเข้ามาร่วมธุรกิจในประเทศไทย โดยหันไปแสวงหาโอกาสและความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ในเวียดนามแทน เนื่องจากภาวะตลาดของไทยไม่ดี ไม่เอื้อในการทำธุรกรรมค้าหลักทรัพย์
ขณะที่การไปร่วมทุนกับบริษัทหลักทรัพย์เวียดนามจะเป็นการกระจายความเสี่ยงและยังเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา 3 ราย
ทั้งนี้ การเข้าไปร่วมทุนกับทางเวียดนามคงจะต้องมีการหารือถึงสัดส่วนการร่วมทุน แต่ตามหลักเกณฑ์เพดานการเข้าลงทุนอยู่ที่ 40-50% ซึ่งโบรกเกอร์ที่จะเข้าไปลงทุนนั้นเท่าที่เจรจามีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ทำให้สามารถลงทุนผ่านตลาดหุ้นได้ หรือ กระทั่งการนำลูกค้าเวียดนามาลงทุนในไทยและจากไทยไปลงทุนเวียดนาม โดยจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต โดยไม่พึ่งรายได้ในประเทศ เพียงอย่างเดียว อีกทั้งเป็นการรองรับการเปิดเสรีในอนาคต
"ยอมรับว่าการตัดสินใจตอนนี้ที่จะร่วมทุนยากพอสมควร จากการที่เราเข้าไปคุยกันแล้ว เพราะเราเป็นห่วงในเรื่องของการเติบโต เพราะเวียดนามกำไรส่วนใหญ่จะมาจากการเทรดหุ้น แต่ตอนนี้ตลาดหุ้นในเวียดนามก็ไม่ดี ทำให้เราต้องเลือกอย่างรอบคอบ แต่ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาส เพราะจะมีระดับราคาที่ต่ำ...คงไม่คอยให้ตลาดปรับตัวขึ้นมา เพราะไม่รู้จะปรับตัวขึ้นมาเมื่อไหร่ การที่เรามองตลาดเพื่อนบ้านจะช่วยเราได้ ทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มรายได้ไม่กระจุกตัวที่มาจากในประเทศอย่างเดียว"นายชัยภัทร กล่าว
ด้านนายเชาว์ อรัญวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ด้าน Retail ของZMICO กล่าวยอมรับว่า ภายใต้สถานการณ์ตลาดหุ้นที่ผันผวนอาจจะยากต่อส่วนแบ่งการตลาดปีนี้ที่วางไว้ที่ 5% ถึงแม้ครึ่งปีแแรกจะมีมาร์เก็ตแชร์ 4.2% เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 3 จะแย่ไปกว่านี้ จากปัญหาเรื่องการเมือง รวมถึงปัจจัยภายนอก แต่ยังหวังว่าในไตรมาส 4 ทุกอย่างจะกลับมาดี โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ไม่น่าจะปรับตัวขึ้นสูงเหมือนที่ผ่านมา
"หากสามารถทำมาร์เก็ตแชร์ไปแตะ 5% ตามเป้าหมายที่เราวางไว้ไตรมาสเดียว ก็ถือว่าเราไปถึงที่เราวางไว้แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากภายใต้สถานการณ์ตลาดเช่นนี้ วอลุ่มก็ปรับตัวลง"นายเชาว์ กล่าว
พร้อมระบุว่า แม้ภาวะตลาดไม่ดีก็ยังเชื่อในปีนี้จะมีรายได้รวมดีกว่าปีก่อน เพราะจากการที่บริษัทพยายามหารายได้ในด้านอื่น ทั้งตราสารหนี้และการลงทุนใหม่ๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวอลุ่มตลาดด้วย
นายเชาว์ กล่าวต่อว่า แม้ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ ยังปล่อยมาร์จิ้นอย่างต่อเนื่องโดยไ่ม่มีปัญหาและการตั้งสำรอง ปัจจุบันปล่อยแล้ว 1,600 ล้านบาทจากเมื่อเดือนเม.ย.ที่ปล่อย 2,000 ล้านบาท เพียงแต่ว่าจะเลือกลูกค้าและเลือกตัวหุ้น
นายพินิจ พัวพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ด้าน Coperate Finance และ วาณิชธนกิจ ของ ZMICO กล่าวว่า ในปีนี้คงไม่เห็นธุรกรรม IPO แม้ว่าจะมีอยู่ในมือ 3-5 ดีล มูลค่า 1,200 ล้านบาท เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้อ แต่คงจะได้เห็นในแง่ M&A 1-2 ดีล จากที่มีในมือ 8-10 ดีล ซึ่ง 2 ดีล มีมูลค่าประมาณ 3-4 พันล้านบาท โดยเป็นดีลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า 1 ดีล
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/รัชดา/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์: saowalak@infoquest.co.th--