BSEC เจรจา LH ตั้ง Cyber Branch เจาะหมู่บ้านใหญ่/เล็งจังหวะขยายพอร์ตลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 6, 2008 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บล.บีฟีท(BSEC)ฝ่าคลื่นลมตลาดหุ้นซบเซา เดินหน้าขยายสาขา Cyber Branch เจาะหมู่บ้านใหญ่ดึงลูกค้า Retail ระดับบิ๊ก กำลังเจรจา LH ตั้งสาขาตัวอย่าง-ให้บริการครบวงจรถึงหน้าบ้าน สอดคล้องเป้าหมายชัดเจนให้บริการครบทุกตลาด ส่วนธุรกิจโบรกเกอร์ แม้ภาวะตลาดรวมยังน่าห่วง แต่ช่วงครึ่งปีแรกทำมาร์เก็ตแชร์ได้แล้ว 3%ปลาย ๆ จากเป้าหมายทั้งปีนี้ที่ 4-5% ได้กำไรจากพอร์ตลงทุนที่มีอยู่ 200-300 ล้านบาทช่วยหนุน รอจังหวะดีอาจขยายพอร์ต ด้าน IB ยังไม่เห็นแววฟื้นในช่วงใกล้ ๆ แต่ยื่น IPO แล้ว 10 รายรอลุ้นจังหวะเหมาะเข้าเทรดหากตลาดพร้อม 
นายเดชา แปงคำ กรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจค้าหลักทรัพย์ BSEC เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทฯมีแผนขยายสาขาเพิ่มจากที่มีอยู่ 9 สาขาในปัจจุบัน โดยจะเน้นรูปแบบ Cyber Branch ที่ให้บริการครบวงจร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์(LH)เพื่อประเดิมตั้งสาขาในหมู่บ้านขนาดใหญ่ คาดว่าจะได้เห็นในช่วงครึ่งหลังปี 51 หรือไตรมาสแรกของปี 52 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดประมาณ 3-4 สาขาก่อน
สำหรับพื้นที่ที่น่าสนใจในการตั้ง Cyber Branch ในหมู่บ้านใหญ่ ได้แก่ รามคำแหง, ถนนสุขาภิบาล 1-3, ถนนสุขุมวิท เชื่อว่าผู้อาศัยที่มีฐานะดีจะพึงพอใจที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นได้จากบ้านหรือในหมู่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางออกไปไหน ขณะที่ทาง BSEC ก็มีต้นทุนไม่มากเพียง 1.5 ล้านบาท/สาขา
"คาดว่าจะขยายสาขาเพิ่ม แต่ตอนนี้บุคลากรหายาก และวอลุ่มก็หายากด้วย...เราจะเน้นไปในลักษณะ Cyber Branch มากกว่า ตอนนี้กำลังจะคุยกันอยู่ ซึ่งเรามองตามหมู่บ้านใหญ่ ๆ พวกบ้านที่เศรษฐีอยู่กัน ก็คงจะไปเช่าพื้นที่เล็ก ๆ เหมือนบู๊ท Exchange อย่างนั้น บุคลากรไม่เยอะ ต้นทุนไม่เยอะ"
"เราก็อาจจะมีบริการด้านอื่นให้ด้วย เรามองว่าจะทำเป็น Cyber Branch แบบครบ...ก็เหมือน ATM คล้าย ๆ Exchange ซึ่งเราจะเน้นโครงการใหญ่ ๆ จริง ๆ แต่เราก็ดูสภาพทุกอย่างไว้ด้วยว่า จริง ๆ BSEC จะลงทุนอะไรจะดูจุดคุ้มทุนเป็นหลัก"นายเดชา กล่าว
ปัจจุบัน BSEC ยังคงเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อย(Retail)ประมาณ 80% ส่วนที่เหลือก็จะเป็นลูกค้ารายสถาบัน-กองทุน และบริษัทฯมีสาขาทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ สาขาที่บางบัวทอง, เชียงใหม่มี 2 สาขา, สาขาเพลินจิต, ปิ่นเกล้า, นครศรีธรรมราช, โคราช และ หาดใหญ่ ส่วนสำนักงานใหญ่อยู่ทีสีลมคอมเพล็กซ์
*วางเป้าหมายชัดเจนมุ่งธุรกิจครบวงจร AFET, TFEX และ Private Fund
กรรมการผู้จัดการ BSEC กล่าวว่า บริษัทฯยังเน้นนโยบาย Conservation และมุ่งทำธุรกิจในแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้าน AFET, TFEX และ Private Fund ซึ่งบริษัทฯยังคงจะเป็นโบรกฯ Retail ขนาดกลาง
ในส่วนของธุรกิจ TFEX ขณะนี้บริษัทไดยื่นยื่นขอใบอนุญาตไปแล้ว และเข้าอบรมกับทางบริษัท ตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย)แล้ว รอแค่เพียงใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากทางการเท่านั้น และธุรกิจ Private Fund กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่จะทำให้ใบอนุญาตของบล.สามารถทำธุรกิจได้ครบวงจร บริษัทกำลังรอและเตรียมทีมงานไว้พร้อมแล้ว
สำหรับธุรกิจ AFET บริษัทก็ได้ไปเทคโอเวอร์กิจการของ ANG THAILAND เมื่อต้นปี 51 ซึ่งทำธุรกิจเกษตร ในช่วงแรก ๆ ก็ได้ปรับโครงสร้างก่อนประมาณ 3 เดือน ขณะนี้เริ่มเห็นผลดีขึ้น และเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/51
*เล็งจังหวะเหมาอาจขยายพอร์ตลงทุน หลังได้เป็นตัวช่วยช่วงตลาดซบ
นายเดชา กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ซบเซาในปัจจุบันทำให้โบรกเกอร์ต่างเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่ยังดีที่บริษัทฯมีพอร์ตลงทุน 200-300 ล้านบาท และปัจจุบันก็ยังสามารถสร้างกำไรให้แก่บริษัทฯได้เป็นอย่างดี
"ตลาดฯซบอย่างนี้ จะบอกว่าไม่เดือดร้อนเหมือนคนอื่นก็ไม่ได้ แต่เชื่อว่าทุกคนก็พยายามทำต้นทุนของตัวเองให้ต่ำที่สุด การที่เราต้นทุนต่ำเราก็จะได้เปรียบ อีกอย่างเราก็มีพอร์ตลงทุน 200-300 ล้านบาท ซึ่งลงทุนหุ้นปัจจัยพื้นฐาน และมีทีมที่บริหารเก่ง สามารถสร้างกำไรให้แก่บริษัทฯได้อย่างต่อเนื่อง และพอร์ตลงทุนของบริษัทฯนี้ก็ยังสามารถขยายเพิ่มได้ถ้าเหตุการณ์ทุกอย่างดีขึ้น"นายเดชา กล่าว
นายเดชา กล่าวอีกว่า หลังจากมีการปรับครม.ครั้งใหม่ หากปัญหาเงินเฟ้อและซับไพร์มไม่รุนแรง ก็เชื่อว่าตลาดหุ้นบ้านเราก็น่าจะกลับมาได้ในช่วงปลายปีนี้(2551)แต่ตอนนี้วอลุ่มเทรดยังน้อยมาก โบรกเกอร์ก็ต้องระวังตัวพอสมควร และต้องหาอะไรใหม่ ๆ เข้ามานำเสนอให้ลูกค้าเพื่อให้บริษัทฯยืนอยู่ได้
*ครึ่งปีหลังรายได้จากธุรกิจวาณิชฯมีสิทธิ์ซบเซาต่อ หากตลาดฯไม่ฟื้น
กรรมการผู้จัดการ BSEC กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ยังสูงถึง 90% โดยบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ในเกณฑ์ค่อนข้างดีเฉลี่ย 3%ปลาย ๆ จากเป้าทั้งปีที่ตั้งมาร์เก็ตแชร์ไว้ 4-5% ส่วนรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจยังไม่ค่อยเข้ามา เพราะยังไม่ได้นำหุ้น IPO เข้าตลาดฯในช่วงที่ผ่านมา และมองว่าครึ่งหลังปีนี้(2551)รายได้จากธุรกิจวาณิชฯยังมีสิทธิ์ที่จะซบเซาต่อ หากภาวะตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้นตัวกลับมา
"เพราะเราต้องดูปัจจัยด้วยว่าถ้าเอาเข้ามาตอนนี้แล้วเกิดหุ้นต่ำราคาจอง ก็จะทำให้เราเสียหายทางด้านชื่อเสียงได้ เราทำ Retail ในเมืองไทยเราก็ต้องการชื่อเสียงตรงนี้ด้วยเหมือนกัน"กรรมการผู้จัดการ BSEC กล่าว
กรรมการผู้จัดการ BSEC กล่าวต่อว่า บริษัทฯยังคงเน้นธุรกิจรับเป็นที่ปรึกษา IPO และได้ยื่นข้อมูลไฟลิ่งให้กับลูกค้าเพื่อขายหุ้น IPO ไปแล้ว 10 บริษัทฯด้วยกัน แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ค่อยมีรายได้จากธุรกิจวาณิชฯเข้ามามากนักแต่เชื่อว่าเมื่อตลาดฯเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมา รายได้จากธุรกิจวาณิชฯก็จะเป็นรายได้หลักของบริษัทฯด้วยตัวหนึ่ง
"ล่าสุดเท่าที่ทราบจากฝ่ายวาณิชฯ บริษัทฯได้ยื่น IPO ไปแล้วหลายบริษัทฯประมาณ 10 บริษัทฯได้ เพียงแต่ช่วงนี้ตลาดฯยังไม่เอื้ออำนวย แต่ถ้าตลาดฯฟื้นตัวกลับมาเชื่อว่า ตัว IPO ก็จะเป็นรายได้หลักที่สำคัญเสริมให้กับบริษัทฯด้วยเหมือนกัน"กรรมการผู้จัดการ BSEC กล่าว

แท็ก ตลาดหุ้น   BSEC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ