บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC)คาดไตรมาส 2/51 จะมีกำไรดีขึ้นจากไตรมาส 1/51 ที่มีกำไรสุทธิ 46 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีกำไรจะมากกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 22 ล้านบาท จากมาร์จิ้นที่สูงขึ้นมาเป็นกว่า 3% จากปีก่อนต่ำกว่า 2% หลังคลายวิตกต้นทุนก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กที่บริษัทได้ซื้อล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งงานใหม่มีมาร์จิ้นสูงมาถึง 10% แต่ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เพราะยังมีขาดทุนสะสมเหลืออยู่ราว 1 พันล้านบาท
คาดถึงสิ้นปีจะมีงานในมือ(backlog)เข้ามาอย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป โดยขณะนี้ได้งานใหม่ในมือ 9 พันล้านบาทแล้วรอรับรู้รายได้ปีหน้า ส่วนงานที่อยู่ระหว่างเจรจาอีกกว่า 3 พันล้านบาท มั่นใจได้งานใหม่ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งลุ้นได้งานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงอย่างน้อย 1 สัญญาจากที่เสนอไป 3 สัญญา
"ในไตรมาสนี้(ไตรมาส 2/51)ผลประกอบการเป็นบวก แต่ไม่ได้หวือหวาอะไรมาก อย่างน้อยการันตีปีนี้ก็ไม่ขาดทุนแน่ เพราะมาจากการควบคุมต้นทุนต่างๆ และการวัสดุก่อสร้างไว้ล่วงหน้า ช่าวยลดค่าใช้จ่าย"นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร STEC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
*สั่งซื้อเหล็กล่วงหน้าช่วยคุมต้นทุน-มาร์จิ้นสูงขึ้นเป็น 3% ช่วยดันกำไรปีนี้
นายวรพันธ์ กล่าวว่า จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีบริษัทจะมีปริมาณการใช้เหล็กในงานก่อสร้างไม่มากนัก และส่วนใหญ่ก็ได้สั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วตั้งแต่ต้นปี ณ ราคา 28.50 บาท/กก.รองรับไว้ได้เกือบทั้งปี แม้ว่าช่วงนี้ราคาเหล็กจะปรับตัวลง แต่ก็ไม่มาก โดยมาอยู่ที่ระดับ 38 บาท/กก.ถือว่าราคาทรงตัว มองแล้วก็ไม่ได้มีผลอะไร
ดังนั้น จึงคาดว่าภาพรวมมาร์จิ้นของบริษัทในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง โดยคาดว่าจะมีอัตราสูงกว่า 3% เนื่องจากงานใหม่ที่เข้ามามีมาร์จิ้นสูงประมาณ 10% โดยรายได้ของบริษัทในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากแอร์พอร์ตลิงค์กับศูนย์ราชการครึ่งหนึ่งที่ไม่มีมาร์จิ้น ส่วนที่เหลืออีกครึ่งเป็นงานใหม่
"มาร์จิ้นปีนี้จะสูงกว่า 3% แต่ก็ไม่ได้หวือหวา และจ่ายเงินปันผลก็ยังไม่ได้ คือกำไรนิดเดียว และก็ยังมีขาดทุนสะมอยู่ ก็ต้องรอไปก่อน" นายวรพันธ์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีขาดทุนสะสมประเมาณ 1 พันล้านบาท บริษัทมีแผนจะนำกำไรจากการดำเนินงานมาทยอยล้างขาดทุนสะสม คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปี (ปี 51-53) ดังนั้น ในเบื้องต้นช่วงดังกล่าวบริษัทจึงยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
"บริษัทอาจจะทบทวนดูว่าถ้าเหมาะสมจะจ่ายเงินปันผลเร็วขึ้น เพราะขณะนี้ภาวะตลาดเป็นแบบนี้ การเมืองแบบนี้ อย่าไปคุยอะไรเลย ให้ตลาดปรับตัวดีกว่านี้เสียก่อน อยากให้งานเข้ามามากกว่านี้ เราถึงจะพิจารณาตรงนี้ "นายวรพันธ์ กล่าว
*มั่นใจทั้งปีได้งานใหม่ 1.5 หมื่นลบ.หลัง H1 ได้แล้ว 9 พันลบ.
นายวรพันธ์ ประเมินว่า ในปีนี้บริษัทจะได้งานใหม่ ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในงวด 6 เดือนแรกบริษัทได้มาแล้ว 9 พันล้านบาท เวลาที่เหลือน่าจะทำได้อีก 6 พันล้านบาทอย่างไม่ยากนัก โดยงานที่อยู่ในระหว่างเจรจามีอยู่แล้ว 3-4 งาน ประมาณมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านบาท
งานใหม่ในปีนี้จะรับรู้ในปีหน้า ส่วนรายได้ในปีนี้ไม่ห่วง โดยคาดว่าจะได้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท แต่เราจะหางานเพื่อทำในปีต่อไป คาดว่าในสิ้นปี 51 งานในมือน่าจะมีอย่างน้อย 1.0-1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่น่าห่วงอะไร
"รายได้ในปีหน้าจะมาจากงานในมือที่เหลือในสิ้นปีประมาณ 1 หมื่นล้าน และ งานใหม่จะมีเข้ามา 1 หมื่นหรือ 1.2 หมื่นล้านบาทได้อย่าง สบายๆ เรื่องรายได้บริษัทไม่ได้ concern เท่าไร แต่ต้องการหางานที่มีมาร์จิ้นสูงเพื่อให้มีกำไรสูงขึ้นมากกว่า ถ้าทำมากแต่ขาดทุนไม่รู้จะทำทำไม"นายวรพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ โครงการเมกะโปรเจ็คต์ในปีนี้คาดว่าคงจะมีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพียงสายเดียว ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ไม่มั่นใจว่าจะมีการเปิดประมูลทันหรือเปล่า ส่วนระยะเวลาการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เลื่อนไปกลางส.ค. คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะทางการต้องการเปิดให้บริษัทต่างชาติร่วมเข้าประมูลมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทคาดหวังว่าถ้าจะได้ 1 ใน 3 ของสัญญาที่ยื่นประมูลไปก็พอใจ เพราะแต่ละสัญญามีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบามทขึ้นไป แต่หากไม่ได้บริษัทก็มุ่งเป้ารับงานภาคเอกชนอยู่แล้ว
"ถ้าเป็นงานของรฟม.เราไม่กลัว แต่ถ้าเป็นการรถไฟฯ เราก็ต้องระวัง เพราะเราต้องดูราคากลาง และเงื่อนไข โดยเฉพาะพื่นที่ชุมชนที่ให้ผู้รับเหมาจัดการเองก็คงไม่พิจารณา โอกาสเข้าก็น้อยลง เพราะการรถไฟจะโอนความรับผิดชอบมาให้ผู้รับเหมา เมื่อดูแล้วเรื่องระเบียบและเงื่อนไข พื้นที่ทำงาน ความเหมาะสมของราคากลาง โดยเฉพาะของรฟม.เรามั่นใจมากกว่า" นายวรพันธ์ กล่าว
*ขยายเวลาแอร์พอร์ตลิงค์ ไม่มีสำรองเพิ่ม
สำหรับการขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงค์) เพิ่มอีก 370 วัน นายวรพันธ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาเรื่องต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทได้ผ่านพ้นช่วงการใช้เหล็กจำนวนมากไปแล้ว แต่ก็ยังต้องใช้เหล็กบ้าง โดยบริษัทได้ซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว
"ช่วงที่ขยายระยะเวลา เราคำนวณไว้หมดแล้วตั้งแต่ตอนที่เราตั้งสำรอง เราคำนวณจนถึงวันจบ ซึ่งเราก็คิดไว้อยู่แล้วว่าล่าช้า เราก็คำนวนไว้แล้วว่าต้นทุนเท่าไร คือเราต้องพยายามเต็มที่ให้เสร็จเร็ว แต่ไม่เกินเวลา 550 วันที่ขยายไปถึงวันที่ 7 ก.พ. 52 ตามหมายกำหนดการ ซึ่งถ้ายิ่งเสร็จเร็วเราก็จะประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น คิดว่าจะไม่มีสำรองเพิ่ม" นายวรพันธ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ซึ่งเป็นเจ้าของงานได้ขยายระยะเวลาออกไป 180 วัน เมื่อรวม อีก 370 วัน รวมเป็น 550 วัน
เมื่อไตรมาส 2/49 STEC ได้บันทึกสำรองผลขาดทุนของโครงการนี้เป็นจำนวนเงิน 900.65 ล้านบาท ทำให้ในปี 49 บริษัทประสบผลขาดทุน 1.78 พันล้านบาท
*โบรกฯมองฟื้นหลังมีมาร์จิ้นดีขึ้น แนะ"ซื้อ"
ด้านบล.ฟิลลิป มองว่า แรงกดดันด้าน Margin ลดลงในปีนี้ โดยสถานะ Backlog ล่าสุด ยังมองประมาณการยอดรับรู้รายได้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อนที่ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ Gross Margin น่าจะดีขึ้นจาก 1.74% เป็น 3.36% โดยผลลบจากงานที่มี Margin ต่ำจะถูกชดเชยด้วยงานปิโตรเคมีและงานโรงไฟฟ้า ทำให้คาดหมายผลประกอบการก่อนรายการพิเศษกลับมาเป็นกำไร 175 ล้านบาท จากขาดทุนก่อนรายการพิเศษ 37 ล้านบาท
ในขณะที่แนวโน้มปี 52 ยังขึ้นกับทิศทางราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมัน โดยล่าสุดมีทิศทางจะอ่อนลงผันผวนน้อยลง อย่างไรก็ตาม คาดหมาย STEC จะใช้นโยบายที่เน้นการทำกำไรมากกว่าฐานรายได้ ประกอบกับโครงการที่ฉุด Margin ในปี 50-51 จะหมดไป ทำให้ Margin น่าจะดีขึ้นเป็น 5% จาก 3% ส่งผลให้กำไรเป็น 290 ล้านบาท หรือ 0.21 บาทต่อหุ้น ดังนั้นจึงปรับคำแนะนำเป็น"ซื้อ"จาก"ขาย"ราคาพื้นฐาน 4.80 บาท
วานนี้ ราคาหุ้น STEC เริ่มฟื้นขึ้นมาปิดที่ 4.04 บาท และเช้านี้ราคาเคลื่อนไหวที่ 4.08 บาท บวก 0.04 บาท (+0.99%)
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--