THL แจง Q2/51 พลิกกำไร เหตุผลผลิตทองเพิ่ม กำไรขั้นต้นพุ่ง-ขายที่ภูเก็ต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 13, 2008 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโรนัลด์ อึ้ง วาย ชอย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ (THL) ชี้แจงบริษัทฯมีผลกำไรสุทธิไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2551 คิดเป็นจำนวนเงิน 29.422 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 2550 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิเป็นจำนวนเงิน 35.809 ล้านบาท
เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 บริษัทย่อยผลิตทองคำจำนวน 8,631 ออนซ์ และ มีรายได้จากการขายทองคำเป็นเงิน 235.69 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้นคิดเป็นร้อยละ 55.80 หรือประมาณ 131.49 ล้านบาท จากผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน 2551 หลังจากบริษัทฯได้เริ่มดำเนินงานในพื้นที่เหมืองใหม่ T-1-8 ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
บริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงานรวมเป็นเงิน 28.21 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 65.24 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจาก บริษัทฯ ได้ขายที่ดินบางแปลงที่ภูเก็ต โดยได้กำไรจากการขายที่ดินครั้งนี้เป็นเงิน 77.45 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานส่วนใหญ่จึงมาจากผลกำไรของ บริษัทฯ แต่อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของบริษัทฯ ได้ถูกหักลบโดยผลขาดทุนที่ยังไม่ได้รับรู้จริงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unrealized exchange rate loss) ค่าที่ปรึกษากฎหมายและอื่นๆค่าธรรมเนียมธนาคาร จากการที่ได้รับเงินกู้ใหม่จำนวนเงิน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงในช่วงราคาซื้อขายทองคำ และผลขาดทุนจากส่วนงานอื่นๆในบริษัทย่อยอื่นในกลุ่มบริษัทส่งผลให้กำไรรวมของกลุ่มบริษัทลดลง
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวม เป็นเงิน 97.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 65.05 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากบริษัทฯ และบริษัทย่อย (บจก.ทุ่งคำ) ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ส่วนประกอบหลักของผลขาดทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ในบริษัท ทุ่งคำ จำกัด คือ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (สุทธิ) สูงถึง 47.26 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินบาทในเดือนมิถุนายน 2551 โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด มียอดเงินกู้คงเหลืออยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่เป็นจำนวนมากจึงส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและขาดทุนดังกล่าวเกือบทั้งจำนวนมาจากขาดทุนที่ยังไม่ได้รับรู้จริงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unrealized exchange rate loss) จำนวน 47.64 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้รับผลประโยชน์ในด้านบวกเช่นกันเนื่องจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ส่งออกทองคำในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ต้นทุนการผลิตของบริษัทส่วนใหญ่เป็นเงินบาท การอ่อนค่าของเงินบาทจะทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้นโดยที่ต้นทุนการผลิตเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนที่ต่ำกว่า
เมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างกำไรจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นกับขาดทุนจากเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้วบริษัทได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นอย่างมาก แต่ถ้าพิจารณาจากผลประกอบการซึ่งไม่รวมขาดทุนที่ยังไม่ได้รับรู้จริงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unrealized exchange rate loss) แล้ว บริษัทฯ จะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติเป็นเงิน 20.72 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีรายจ่ายซึ่งเป็นรายการพิเศษเฉพาะในไตรมาสนี้ 2 รายการ เป็นเงินรวม 17.90 ล้านบาท ได้แก่ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ เป็นเงิน 15.50 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษากฎหมาย เป็นเงิน 2.40 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯได้รับเงินกู้ ( refinance ) จากธนาคารในเดือน เมษายน 2551
กำไรขั้นต้นจากการขายทองคำ ที่สูงขึ้นจาก 18.93 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เป็น 131.49 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 หรือสูงขึ้นร้อยละ 594.61 เนื่องจากปริมาณผลผลิตทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 110.51 จากการที่บริษัทได้เริ่มดำเนินงานในพื้นที่เหมืองใหม่ T-1-8 ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2551 ซึ่งอุดมไปด้วยสินแร่ที่มีค่าความสมบูรณ์สูงที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประกอบกับเครื่องบดย่อยและเครื่องจักรอื่นๆ สำหรับเพิ่มกำลังการผลิตได้เริ่มดำเนินงานแล้ว
ต้นทุนการผลิตต่อออนซ์ที่ลดลง เนื่องจากพื้นที่เหมืองใหม่ T-1-8 ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าดำเนินงานและขนย้ายแร่ได้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2551 นั้นมีสินแร่ออคไซด์ที่มีความสมบูรณ์ของแร่สูงอยู่ จึงส่งผลให้การสกัดทองคำในเดือน มีนาคม 2551 มีต้นทุนการผลิตต่อ ออนซ์ลดลงมาก โดยในไตรมาสแรกของปี 2550 นั้นสินแร่ที่นำมาสกัดทองคำมีความสมบูรณ์ของแร่ต่ำกว่า นอกจากนี้ค่าความสมบรูณ์ของแร่ที่สูงขึ้นยังส่งผลให้อัตราการใช้สารเคมีต่างๆ ลดน้อยลงด้วย
ถึงแม้ว่าราคาขายทองคำของบริษัทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 จะมีเพดานราคาอยู่ที่ 862ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ตามข้อกำหนดในสัญญาเงินกู้ใหม่ตามรายละเอียดของสัญญาที่ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 ราคาขายดังกล่าวก็ยังสูงกว่าราคาขายเฉลี่ยในไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ถึง 195 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือสูงขึ้นร้อยละ 30
การซื้อทองคำเดิมเนื่องจากผลผลิตทองคำที่ไม่เพียงพอในไตรมาสที่ 1 บริษัทฯจำเป็นต้องซื้อทองคำเพื่อการส่งมอบตามภาระของสัญญาที่มีทุกเดือน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับค้าขายทองคำเพื่อหวังเก็งกำไร+การซื้อจะกระทำก่อนวันส่งมอบและนำส่งให้กับธนาคารคู่สัญญาทันทีอย่างไรก็ตามบริษัทสามารถผลิตทองคำได้เพียงพอปริมาณที่ระบุไว้ตามสัญญาได้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อทองคำเพื่อการส่งมอบตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 นี้อีกต่อไป
หลังจากบริษัทฯได้ดำเนินการตามแผนงานเพื่อปรับปรุงการผลิตและการสกัดทองคำตั้งแต่ปลายปี 2550 และได้เดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิตในไตรมาสที่ 2 นี้ จึงส่งผลให้ผลผลิตตั้งแต่เดือน มีนาคม 2551 อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจทั้งปริมาณการผลิตและต้นทุนการผลิตทางบริษัทฯจะพยายามรักษาความสามารถในการผลิตและการสกัดทองคำ และพัฒนาเพื่อสร้างผลกำไรต่อไปในอนาคต
สำหรับโครงการการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากบริษัทสกายคลิฟ์ฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายกับธนาคารในประเทศไทย 2 แห่ง เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน ดังนั้นบริษัท สกายคลิฟ์ฟ จำกัด จึงได้ขอขยายระยะเวลากำหนดการก่อสร้างโครงการที่จะเริ่มมีขึ้นในไตรมาสที่สาม ไปเป็นไตรมาสที่สี่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ