บมจ.ไทยคม(THCOM) ปรับกลยุทธ์ใหม่หันมาจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันทำตลาดบริการดาวเทียม iPSTAR เพื่อรุกเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากช่วงที่ผ่านมาที่การขายให้กับพันธมิตรไปทำตลาดเองไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทำให้ยอดขายอุปกรณ์ปลายทาง(UT)ไม่ค่อยขยับ โดยครึ่งปีแรกมียอดขาย UT เพิ่มมาเป็น 4.3 หมื่นชุด ดังนั้น THCOM ยังจะคงเป้ายอดขาย UT ในปีนี้ไว้ที่ 1 แสนชุด
สำหรับการทำตลาดต่างประเทศ ในช่วงไตรมาส 3/51 จะเข้าไปเปิดตลาดในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย ภายใต้กลยุทธ์การตลาดแบบใหม่ รวมทั้งจะปรับรูปแบบการตลาดในจีนและเวียดนามด้วย ส่วนตลาดอินเดีย น่าจะเข้าไปทำตลาดได้ในราวไตรมาส 4/51 ล่าช้ากว่าที่คาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 3/51 เนื่องจากติดขัดขั้นตอนทางราชการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาพันธมิตรท้องถิ่น
บริษัทยังมีแผนจะรุกขยายตลาดบริการ iPSTAR ในประเทศอื่น ๆ อีกอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปิดตลาดญี่ปุ่น และไต้หวันในช่วงต้นปี 52 ซึ่งจะทำให้ในปีหน้า THCOM สามารถเปิดบริการ iPSTAR ได้ครบ 14 ประเทศ และคาดว่ากลางปี 52 น่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ตามเป้าหมาย ที่จำนวน 2.5 แสนชุด และ ตั้งเป้ามีการเช่าช่องสัญญาณ 20% จากปัจจุบันมีอยู่ 6-7%
"จากเดิมเราขายแบบ Holdsale ทั้ง 14 ประเทศ โดยขาย UT และให้พาร์ทเนอร์แต่ละประเทศไปทำตลาดเอง แต่ตอนนี้เราได้ปรับกลยุทธ์ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์แต่ละประเทศเข้าไปเจาะลงรายย่อย โดยตั้งราคาเทียบเคียงกับมาตรฐานของแต่ละประเทศ" นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ผู้อำนวยการสำนักการตลาด iPSTAR
จากการที่บริษัทประสบความสำเร็จในการทำตลาดที่นิวซีแลนด์เมื่อมิ.ย.51 โดยตั้งราคาขายเป็นแพ็คเกจทั้ง UT และบริการให้เช่าช่องสัญญาณที่ 50 เหรียญ/เดือน หรือประมาณ 1,250 บาท/เดือน ส่งผลให้มียอดขาย UT เพิ่มขึ้นจาก 250 ชุดเป็นกว่า 600 ชุด บริษัทจึงได้ปรับการทำตลาดบริการ iPSTAR ตั้งแต่ไตรมาส 3/51 และเชื่อว่าจะขยายตัวได้ดีตามแนวโน้มการเติบโตความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตของตลาดโลก เนื่องจาก iPSTAR สามารถรองรับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความเร็วสูงกว่า 2Mp ซึ่งได้ปรียบกว่าระบบ ADHL
ดังนั้น ในช่วงระยะสั้น บริษัทยอมที่จะลดมาร์จิ้นยอดขาย UT แต่ไม่ได้ขายขาดทุน แต่ในระยะยาวบริษัทคาดหวังรายได้จากการเช่าช่องสัญญาณหรือแบนด์วิธมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ก็ยอมรับว่าตลาดในจีนยังคงต้องใช้เวลาแม้ปรับเปลี่ยนกลุยทธ์ โดยจะค่อย ๆ เจาะไปที่ละมณฑล ซึ่งเริ่มต้นที่มณฑลเสฉวน โดยช่วงนี้มียอดขาย UT ประมาณเดือนละกว่า 100 ชุดเท่านั้น แต่หากในปีหน้าได้เปิดตลาดที่อินเดียเชือว่า รายได้จากตลาดอินเดียจะพุ่งขึ้นสูงแน่นอน
นอกจากนี้ บมจ.ทีโอที ซึ่งเป็นตัวแทนทำตลาดในประเทศเตรียมสั่งซื้อ UT เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 4 พันชุด ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากในไตรมาส 2/51 สั่งซื้อไว้ 4 พันชุดและได้ส่งมอบไปแล้ว 1.5 พันชุด ทีเหลือจะส่งมอบในเดือนส.ค.นี้
*ปีนี้เสี่ยงขาดทุน FX เล็งทำ hedging 100%
นายธนฑิต เจริญจันทร์ ผู้่ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนการเงินและบัญชี THCOM กล่าวว่า บริษัทเตรียมหาจังหวะทำป้องกันความเสี่ยง(hedging)อัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน หลังจากไตรมาส 2/51 มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 437 ล้านบาท เพราะเงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากรายได้ของบริษัทอยู่ในสกุลดอลลาร์สหรัฐถึง 80% ซึ่งคณะกรรมการก็ได้อนุมัติให้ในหลักการแล้ว
ทั้งนี้ มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 33-34 บาท/ดอลลาร์ โดยหากเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัท แต่จะทำให้เกิดผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทางบัญขี เพราะบริษัทยังมีหนี้ต่างประเทศอยู่ 230 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม มองว่า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี และค่าเสื่อมราคา(EBITDA)ในครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรกที่มี 1,346 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่ายอดขายและบริการดาวเทียมจะเติบโตสูงกว่าครึ่งปีแรกที่ 2,392 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และยังคงเป้ายอดขายทั้งปี 51 จะโต 30% และคาดว่ายอดขายสะสม UT จนถึงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2 แสนชุด
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--