นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น(SAMART)ยอมรับว่า ในปี 51 บริษัทอาจจะทำรายได้ไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือภายใต้บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย(SIM)ปรับลดลงตามราคาจำหน่ายต่อหน่วยที่ต่ำลง
ในครึ่งปีแรก SIM มีราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยในต่างประเทศอยู่ที่ 1,938 บาท/เครื่อง และในประเทศเฉลี่ยที่ 1,694 บาท/เครื่อง ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก แต่การหันมาเน้นจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์มือถือที่เป็นเฮ้าส์แบรนด์ทำให้กำไรต่อหน่วยสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทพยายามผลักดันโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่มีราคาขายต่อหน่วยสูงขึ้น โดยในเดือนส.ค.นี้จะออกแบรนด์โทรศัพท์มือถือใหม่ ไอ-โมบาย ซีรีย์ใหม่"SENSE"เพื่อจับตลาดบน โดยกำหนดราคาขายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/เครื่อง โดยมีแผนจะออกโทรมือถือ PDA รุ่น SENSE 80 ในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง
"ถ้าหากตลาดมือถือเติบโต และสามารถดึงให้ราคาขายต่อเครื่องสูงขึ้น ก็จะส่งผลต่อภาพรวมรายได้ที่เติบโตขึ้น แม้รายได้จะไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่มั่นใจว่ากำไรสุทธิปีนี้ จะโตกว่าปีก่อนที่ 348 ล้านบาท"นายวัฒน์ชัย กล่าว
*SAMTEL คาดครึ่งปีหลังชนะประมูลงานใหม่ไม่ต่ำกว่า 50% จาก 1 หมื่นลบ.
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง บมจ.สามารถเทลคอม (SAMTEL) มีแผนจะเข้าประมูลงานรวมมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ งานวางระบบของกระทรวงกลาโหม และ กระทรวงมหาดไทย , โครงการขยายโครงข่ายบรอดแบรนด์ของบมจ.ทีโอที 1 ล้านเลขหมาย ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะได้งานไม่ต่ำกว่า 50%ของงานที่เข้าร่วมประมูล
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผานมาบริษัทมีงานในมืออยู่ประมาณ 3 พันล้านบาท
"งานที่จะเข้าประมูลหากได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะทยอยรับรู้รายได้ในปี 52 และปี 53 และ SAMTEL จะเป็นตัวรายได้หลักให้กับกลุ่ม SAMART ในช่วงครึ่งปีหลัง จากปีก่อนที่ชะลอต้วอย่างหนัก"นายวัฒน์ชัย กล่าว
*-SIM คาดสรุปค่าชดเชย"ไทยโมบาย"ส.ค.นี้-เล็งเปิดทางก้าวต่อเอี่ยวทำ 3G
ส่วนกรณีที SIM ชนะคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทีโอที จำนวน 2.6 พันล้านบาทนั้น นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาวงเงินที่ทีโอทีจะต้องจ่ายคืนให้กับ SIM ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท และคาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนส.ค.นี้ โดยจะได้ทยอยรับคืนเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้ เพราะจะลดภาระดอกเบี้ยจ่ายเดือนละประมาณ 10 ล้านบาท
"หลังตกลงกับทีโอทีได้ ก็จะเปิดโอกาสธุรกิจที่ร่วมกับทีโอที เช่น 3G เนื่องจากทีโอที เปิดกว้างและจะทำให้บริษ้ทมีโอกาสในการทำธุรกิจโทรมือถือด้านอื่นที่โอเปอเรเตอร์รายหลักทำอยู่แล้ว ถ้าเราจะทำ 3G โอเปอเรเตอร์หลักคงจะไม่ให้เราทำ แต่ถ้าทำผ่านทีโอทีโดยเช่าโครงข่าย 3G ก็ไม่น่าจะมีปัญหา" นายวัฒน์ชัย กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--