ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (14 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อเข้าหนุนหุ้นกลุ่มการเงิน หลังจากหุ้นกลุ่มดังหลังกล่าวร่วงลงอย่างหนักติดต่อกันเมื่อ 2 วันทำการที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหุนจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงด้วย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 82.97 จุด หรือ 0.72% แตะระดับ 11,615.93 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดเพิ่มขึ้น 7.10 จุด หรือ 0.55% แตะระดับ 1,292.93 จุดและดัชนี Nasdaq ปิดบวก 25.05 จุด หรือ 1.03% แตะระดับ 2,453.67 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.01 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 1.90 พันล้านหุ้น
ริชาร์ด ดิคสัน นักวิเคราะห์จากบริษัทลอว์รี รีเสิร์ช ในรัฐฟลอริดา กล่าวว่า ในช่วงเช้านั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับขึ้นเพียง 0.4% และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.2%
"แต่ต่อมาดัชนีดาวโจนส์เริ่มดีดตัวขึ้นและเคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกจนกระทั่งตลาดปิดทำการ หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX ร่วงลง 99 เซนต์ แตะระดับ 115.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวล เพราะที่ผ่านมานั้น ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงและส่งผลบั่นทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภค" ดิคสันกล่าว
นักลงทุนขานรับข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐที่ระบุว่า ยอดชาวอเมริกันที่ขอเข้ารับสวัสดิการในระหว่างว่างงาน ลดลง 10,000 ราย แตะระดับ 450,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ส.ค.
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดแสดงความเห็นว่า ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐจะเริ่มมีเสถียรภาพและเริ่มดีดตัวขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีหน้า แม้เขามองว่าภาวะราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำในสหรัฐยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะนี้ก็ตาม
เควิน ดอร์วิน นักวิเคราะห์จากบริษัทบิงห์แฮม ออสบอร์น แอนด์ สคาร์โบโรห์ ในเมืองซานฟรานซิสโก กล่าวว่า แม้หุ้นกลุ่มการเงินได้รับแรงซื้อส่งเข้าหนุน แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน โดยเฉพาะเมื่อเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขขาดทุนไตรมาสสามมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญและการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี ส่งผลให้ราคาหุ้นเจพีมอร์แกนร่วงลงหนักสุดในรอบ 6 ปี
กาย มอสโคว์สกี นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่า โกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาในแง่ของมูลค่าทางตลาด อาจมีรายได้ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่บริษัทนำหุ้นเข้าเทรดในตลาดเมื่อปีพ.ศ.2542 พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการของโกลด์แมน แซคส์ ลงสู่ระดับ 2.04 ดอลลาร์/หุ้น จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.80 ดอลลาร์/หุ้น
นอกจากนี้ เมอร์ริล ลินช์ คาดว่า ซิตี้กรุ๊ปจะขาดทุน 55 เซนต์/หุ้นในไตรมาสสาม เมื่อเทียบกับไตรมาสสองที่ขาดทุน 28 เซนต์/หุ้น และคาดว่าผลประกอบการของเลห์แมน บราเธอร์ส จะร่วงลงแตะระดับ 3.94 ดอลลาร์/หุ้น จากระดับ 1.59 ดอลลาร์/หุ้น
หุ้นเจพีมอร์แกนดีดขึ้น 90 เซนต์ ปิดที่ 37.81 ดอลลาร์ หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ พุ่งขึ้น 49 เซนต์ ปิดที่ 40.64 ดอลลาร์ ส่วนหุ้นวอล-มาร์ท ดีดขึ้น 22 เซนต์ ปิดที่ 58.10 ดอลลาร์ หุ้นทาร์เก็ต กรุ๊ป พุ่งขึ้น 3.3%
ราคาน้ำมันที่ร่วงลงช่วยหนุนหุ้นกลุ่มสายการบินดีดตัวขึ้นด้วย โดยหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 3.9% หุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ดีดขึ้น 5.1% และหุ้นเดลตา แอร์ไลน์ พุ่งขึ้น 5.8%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--