BMCL ได้ยืดหนี้ 1 หมื่นลบ.สรุปสิ้นส.ค./หวังพลิกเป็นกำไรรอสายสีม่วงเกิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 18, 2008 10:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)มั่นใจเจรจายืดหนี้ 1 หมื่นล้านบาทออกไป 4-5 ปีสำเร็จ พร้อมได้ปรับลดดอกเบี้ย คาดเซ็นสัญญากับเจ้าหนี้ 4 แบงก์ไทยสิ้นเดือน ส.ค.นี้ หลังเห็นการดำเนินการส่วนต่อขยายของภาครัฐล่าช้า ทำให้สถานการณ์บริษัทพลิกเป็นกำไรล่าช้าตามไปด้วย จนกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงสามารถเดินหน้าได้ที่จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าระบบอีก 1 แสนเที่ยว/ปี  บริษัทจึงหยุดสั่งซื้อรถไฟฟ้า 5 ขบวนมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาทออกไปก่อนไม่มีกำหนด จากก่อนหน้ามีแผนลงทุนในปีนี้
ขณะที่ปี 51 ผู้บริหารคาดขาดทุนลดลง 10% จากปีก่อนที่มีผลขาดทุน 1,475.4 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมโต 10% จาก 1,445.8 ล้านบาทในปีที่แล้ว จากจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม 4-5% มาที่ตัวเลขเฉลี่ย 1.78 แสนเที่ยว/ปี ขณะเดียวกันฐานะการเงินมีสภาพคล่องมากขึ้นหลังได้ขยายเวลาการชำระหนี้ และภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง พร้อมมั่นใจปี 52 รายได้จะเติบโตเนื่อง 10% เป็นเฉลี่ย 1.9 แสนเที่ยว/ปี และกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา(EBITDA)เป็นบวกได้
*ได้ยืดหนี้-ลดดอกเบี้ย
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า เหตุผลที่ทางเจ้าหนี้ยอมขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับบริษัท เนื่องจากการก่อสร้างส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าของภาครัฐล่าช้าทำให้จำนวนผู้โดยสารและรายได้ไม่เป็นไปตามประมาณการที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทยังสามารถบริหารควบคุมต้นทุนได้ดี และบริษัทยังได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากสัญญาฉบับเดิมที่กำหนดไว้ MLR+0.25% ทั้งนี้ รายละเอียดจะทราบชัดเจนในสิ้นเดือนส.ค.นี้ ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาสัญญาเงินกู้ฉบับปรับปรุงใหม่
“ไม่ใช่ Refinance แต่เป็นการปรับตารางเวลาการชำระเงินและก็ได้ปรับลดดอกเบี้ย คือเนื่องจากส่วนต่อขยายมาช้า ก็ทำให้ Ridership (จำนวนผู้โดยสาร) จึงไม่เพิ่ม แต่ก็เห็นเราควบคุมต้นทุนได้ดี เห็นว่าบริษัทมีอนาคต ฉะนั้น ทุกคนก็ยอม delay รับเงินออกไป 4-5 ปี เท่าๆกับระยะเวลาสายสีม่วงที่จะสร้างเสร็จ"นายสมบัติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ดังนั้น บริษัทจึงไม่ต้องกังวลกับภาระหนี้สินดังกล่าวที่ต้องหาแหล่งเงินอื่นมาเงินคืนเงินต้นให้ทันเวลา และยังได้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายน้อยลง
ทั้งนี้ BMCL กู้เงินจาก ธ.กรุงไทย(KTB) ธ.ทหารไทย(TMB) ธ.กรุงศรีอยุธยา(BAY)และธนาคารนครหลวงไทยSCIB)ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีหนี้เหลือยู่ 10,700 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR+ 0.25% จากเงินต้นที่กู้ไว้ 11,000 ล้านบาท มีระยะเวลา 12 ปี
*คาดครึ่งปีหลังยังโตตามเป้า 10%
นายสมบัติ คาดว่า ในปีนี้บริษัทจะมีผลขาดทุนน้อยลง เพราะคาดว่ารายได้จะได้ตามเป้าที่โต 10% โดยครึ่งปีแรกรายได้ของบริษัทโตตามเป้าแล้ว ก็เชื่อว่าในครึ่งปีหลังรายได้ก็จะโตได้ 10% แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดี โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา(เม.ย.-มิ.ย.)เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสุด มีการใช้จ่ายน้อยลง
“เราขาดทุนน้อยลงเพราะรายได้เรามากขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายน้อยลงก็จะมีโอกาสช่วยขาดทุนน้อยลง อย่างน้อยเราคิดว่าขาดทุนน้อยลง 10%“นายสมบัติ กล่าว
ปีนี้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 4-5% และจากการปรับส่วนลดของบัตรโดยสาร ทำให้มีรายได้มากขึ้น 10%
ปัจจุบัน รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารในวันธรรมดา 2 แสนเที่ยว/วัน จาก 1.6 แสนเที่ยว/วันในปีก่อน วันเสาร์ 1.5 แสนเที่ยว/วัน และวันอาทิตย์ 1 แสนเที่ยว/วัน ซึ่ง ทรงตัวจากปีก่อน อัตราเฉลี่ยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.78 แสนเที่ยว ซึ่งยังไม่ได้เท่าที่บริษัทต้องการไว้ 2 แสนเที่ยว/วัน เพราะขณะนี้ยอดเสาร์-อาทิตย์ยังต่ำกว่าเป้า เพราะคนเดินทางน้อยจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนการปรับส่วนลดค่าโดยสาร โดยปีนี้ปรับอัตราส่วนลดของบัตรเติมเงินเหลือ 14% จาก 15% บัตรเติมเงินของนักเรียนนักศึกษาเหลือ 24% จาก 25% ส่วนบัตรเติมเงินของคนชรามีส่วนลด 50% เท่าเดิม และตั๋วเที่ยวเดียวมีส่วนลด 4% ก็จะทำให้ราคาค่าโดยสารเท่าเดิม โดยส่วนลดดังกล่าวจะมีถึง 31 ธ.ค.51
และเริ่มวันที่ 1 ม.ค.52 ส่วนลดก็จะปรับลงไปอีก โดยตั๋วเที่ยวเดียวจะไม่ได้รับส่วนลด โดยเป็นราคาที่ได้ปรับขึ้น 16-41 บาท ส่วนบัตรเติมเงินบุคคลทั่วไป ส่วนลดจะเหลือ 10% บัตรเติมเงินของนักเรียนนักศึกษา เหลือ 20% ส่วนของคนชราเท่าเดิม เหล่านี้จะทำให้รายได้ในปีหน้าดีขึ้น ซึ่งประเมินว่าจะเติบโตอีก 10%
ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่จะปรับขึ้นต่อนเนื่องอีก 4-5% เป็นอย่างน้อย ตัวเลขเฉลี่ยที่ 1.9 แสนเที่ยว/วัน รวมทั้งทางกรุงเทพมหานครคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 สถานี ช่วงสะพานตากสิน ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารเข้าระบบอีก 2 แสนเที่ยว/วัน โดยบริษัทคาดหวังจะมีผู้โดยสารเข้าระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน 10% หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 หมื่นเที่ยว/วัน ทำให้มั่นใจว่าในปีหน้าบริษัทจะมี EBITDA เป็นบวก และตัวเลขขาดทุนก็จะลดลง
ในช่วง 6 เดือนแรกปี 51 บริษัทมีรายได้รวม 761.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.45% จากปีก่อนในงวดเดียวกัน แต่มีผลขาดทุน 738.73 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ขาดทุน 743.39 ล้านบาท
*กว่าจะพลิกเป็นกำไรต้องรอสายสีม่วง/ชะลอลงทุนออกไป
นายสมบัติ กล่าวว่า การที่บริษัทจะถึงจุดคุ้มทุนและเริ่มมีกำไรคงต้องใช้เวลาและยังต้องมีรายได้เข้ามาอีกมาก โดยบริษัทหวังว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการ ซึ่งคาดว่าะมีจำนวนผู้โดยสาร 2 แสนเที่ยว/ปี ก็จะเชื่อมโยงมาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินปัจจุบัน(สายสีน้ำเงิน)เพื่อเดินทางต่อเข้าเมือง หวังว่าได้ยอดผู้โดยสารเข้าระบบของบริษัท 1 แสนเที่ยว/ปี ดังนั้น หากสายสีม่วงเสร็จก็คาดว่าจะทำให้ยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนเที่ยว/วัน โดยขณะนี้เริ่มเข้ากระบวนการประกวดราคา คาดว่าในสิ้นปีน่าจะตัวผู้รับเหมา
"ถ้าจะ breakeven เราต้องมีเงินพอจ่ายเงินกู้ ถ้าเปิดสายสีม่วง ผู้โดยสาร hit ถึง 3 แสนเที่ยว/วันดังนั้นในช่วง 3-4 ปีนี้ผลขาดทุนก็ยังคงอยู่จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 52 จะพยายามทำ EBITDA ก็จะเป็นบวกให้ได้ ซึ่งพับเงินกู้และดอกเบี้ยไว้ก่อน income จากการเดินรถของเราและค่าใช้จ่ายในการเดินรถมีสัดส่วนดีขึ้น...ถ้าจะพลิกเป็นกำไรก็ต่อเมื่อสายสีม่วงวิ่งแล้ว"นายสมบัติ กล่าว
ดังนั้น บริษัทคาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)จะตัดสินใจภายในสิ้นปีนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับระบบการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยจะให้เอกชนลงทุนและบริหารเองหรือไม่
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี บริษัทจึงได้ชะลอการตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้ามาเพิ่มอีก 5 ขบวนที่จะลงทุน 2 พันล้านบาท โดยต้องการรอให้สายสีม่วงเสร็จก่อน ซึ่งอาจจะมีเปลี่ยนแปลงจำนวนที่สั่งซื้อรถ
อย่างไรก็ตาม รฟม.ให้ BMCL ลงทุนและเดินรถต่ออีกหนึ่งสถานีจากบางซื่อไปเตาปูน เพื่อต่อไปจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่) แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินต้นทุน
BMCL เป็นผู้เดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน(ส่วนแรก)เป็นเวลา 25 ปี โดยสิ้นสุดสัมปทานที่วันที่ 1 ก.ค. 2572 ทั้งนี้ BMCL เริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกตั้งแต่ 3 ก.ค. 2547 ปัจจุบันมีจำนวนรถไฟฟ้า 19 ขบวน ใช้วิ่งจริง 18 ขบวน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ