ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (19 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด และตัวเลขการสร้างบ้านที่ปรับตัวลดลง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักลงทุนมองว่าการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้เหมือนเดิมนั้น อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่ประเมินไว้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 130.84 จุด หรือ 1.44% แตะระดับ 11,348.55, ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 11.91 จุด หรือ 0.93% แตะที่ 1,266.69 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 32.62 จุด หรือ 1.35% แตะที่ 2,384.36 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.01 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 1.77 พันล้านหุ้น
แจ็ค เอบลิน นักวิเคราะห์จากแฮร์ริส ไพรเวท แบงค์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กถูกกระทบจากความวิตกกังวลเรื่องเงินเฟ้อ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค.พุ่งขึ้น 1.2% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า และเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 27 ปี ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 0.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปี 2548
"ดัชนี PPI ที่พุ่งขึ้นเกินคาด ประกอบกับราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กที่พุ่งขึ้นมายืนเหนือระดับ 114 ดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยเร็วขึ้น และการที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิมนั้น คงต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้" เอบลินกล่าว
ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านใหม่ประจำเดือนก.ค.ร่วงลงแตะระดับ 965,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งร่วงลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 960,000 ยูนิตต่อปี
ไบรอัน เบทูน นักเศรษฐศาสตร์จากโกลบอล อินไซท์ อิงค์ กล่าวว่า มาตรการปล่อยกู้ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ตกลง และอัตราการยึดการจำนองที่สูงเป็นประวัติการณ์ ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายบ้าน และทำให้กลุ่มผู้สร้างบ้านยังคงชะลอการลงทุนและลดการใช้จ่าย
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงถูกปกคลุมด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาในภาคการเงิน หลังจากนิตยสารบาร์รอนรายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐอาจต้องซื้อหุ้นทั้งหมดของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการขจัดผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัท 2 แห่งและรวบกิจการทั้งหมดมาเป็นของรัฐ และอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์และผู้ถือครองตราสารหนี้ด้อยสิทธิมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ของบริษัท 2 แห่งนี้ด้วย และการโอนกิจการเฟรดดี เม และเฟรดดี แมคมาเป็นของรัฐ จะทำให้หนี้สินของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
หุ้นกลุ่มการเงินถูกเทขายอย่างหนัก หลังจากเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค คาดการณ์ว่า เลห์แมน บราเธอร์ส อาจต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในช่วงไตรมาสสามลงอีก 4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่า โกลด์แมน แซคส์ ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจรายใหญ่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาในแง่ของมูลค่าทางตลาด อาจมีรายได้ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่บริษัทนำหุ้นเข้าเทรดในตลาดเมื่อปีพ.ศ.2542 พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการของโกลด์แมน แซคส์ ลงสู่ระดับ 2.04 ดอลลาร์/หุ้น จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.80 ดอลลาร์/หุ้น
ทั้งนี้ หุ้นเลห์แมน บราเธอร์ส ร่วงลง 13% หุ้นอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ดิ่งลง 5.9% ส่วนหุ้นกลุ่มค้าปลีกร่วงลงเช่นกัน โดยหุ้นโฮม ดีโปท์ ร่วงลง 24% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสสองลดลง หุ้นทาร์เก็ต กรุ๊ป ร่วงลง 7.5%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--