คณะกรรมการกลั่นกรองคณะพิเศษโครงการเช่ารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ(NGV) เป็นเชื้อเพลิงที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปข้อสังเกตว่าควรปรับลดจำนวนการเช่าลงเหลือ 4 พันคันจากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)เสนอมาทั้งหมด 6 พันคัน ซึ่งจะช่วยลดวงเงินค่าเช่าลงได้ราว 3.4 หมื่นล้านบาท เหลือแค่ 6.7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) สรุปแนวทางดำเนินการทั้งหมดให้เสร็จเรียบร้อยภายในสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาได้ภายในวันที่ 2 ก.ย.นี้
"ที่ประชุมฯ มีมติให้นำข้อสังเกตจากการประชุมเสนอคณะรัฐมนตรีในอีก 2 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเดิม ที่กระทรวงคมนาคมเสนอไว้" นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว
ที่ประชุมฯ ตั้งข้อสังเกตุ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เสนอให้ ครม.พิจารณาจัดหารถโดยสารในจำนวนที่เหมาะสมและลดความเสี่ยงของโครงการจากเดิม 6 พันคัน หลังจากได้ศึกษาและพิจารณาจากห่วงเวลาปรับเปลี่ยนความถี่ในปล่อยรถ ในเบื้องต้นควรจะเช่ารถไม่เกิน 4 พันคัน และหากต้องการเพิ่มก็ให้ ขสมก.นำรถโดยสารปรับอากาศที่มีอยู่ 1.7 พันคันมาให้บริการในช่วงเวลาที่จำเป็นไปก่อน โดยทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบของระบบอี-ทิคเก็ต(ตั๋วอิเล็คทรอนิกส์)เฉพาะรถของ ขสมก.คาดว่าจะสามารถลดงบประมาณได้กว่า 5,000 ล้านบาท
2.เสนอให้ ครม.พิจารณาในการจัดหาอู่รถโดยสารเอ็นจีวี 22 แห่ง โดยมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ ขสมก.จะเป็นผู้เช่าซื้อทั้งหมดแทนที่ให้เอกชนเช่าซื้อ 16 แห่งและเป็นของ ขสมก. 6 แห่ง หลังจากเห็นว่า ขสมก.เสนอข้อมูลที่อาจจะไม่ถูกต้องเพราะราคาประเมินจัดซื้อขายที่ดิน ดอกเบี้ย ค่าเช่าอู่ 10 ปีเป็นการคิดแบบจัดซื้อสังหาริมทรัพย์ที่สูงเกินจริงกว่า 5,920 ล้านบาท หากมีการปรับให้ ขสมก.เป็นผู้เช่าซื้อให้เป็นแบบอสังหาริมทรัพย์จะสามารถลดค่าเช่าและเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ถึง 4,800 ล้านบาท โดยหากครบ 10 ปีอู่ก็จะกลับมาเป็นของ ขสมก.
ขณะที่ลงทุนอื่นๆ เช่น ปั๊มเอ็นจีวีที่ ปตท.วางท่อก๊าซจะไม่เป็นการผูกขาดของเอกชน เมื่อหมดสัญญา ขสมก.ก็จะได้คืน ขณะเดียวกัน ปตท.ตั้งข้อสังเกตว่า หากที่ดินเป็นของภาคเอกชนจะมีสัญญาในการเช่าซื้อถึง 20ปี ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อเสนอต่อ ครม.ต่อไป
และ 3.เสนอให้ ครม.พิจารณาทำสัญญาเพิ่มเติมในอนาคตที่จะมีความคุ้มค่าต่อความเสี่ยงในระยะเวลา 10 ปี โดยถ้าต้องการจำนวนรถโดยสารเพิ่มก็สามารถเจรจาเพิ่มในระบบได้ และหากโครงการไม่ได้ผลก็สามารถลดปริมาณจำนวนรถโดยสารลงได้เช่นกัน โดยทั้งหมดนี้จะเขียนลงร่างทีโออาร์ด้วย
"ตัวเลขเบื้องต้นของโครงการที่เป็นเงินลงทุนของ ขสมก.กว่า 1.1 แสนล้านบาทที่ ครม.เห็นชอบในกรอบ หากมีการลดลงได้กว่า 2,000 คัน วงเงินก็จะสามารถลดลงได้ 3.7-3.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งหากสามารถลดวงเงินในระบบได้อีก 5,000 ล้านบาท โครงการนี้ก็จะลดงบประมาณลงได้ถึง 4.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 30% ของโครงการ" นายอรรคพล กล่าว
ส่วนโครงการเออรี่รีไทร์คาดว่า จะใช้แผนปรับโครงสร้างเดิมของ ขสมก.ที่เสนอ ครม. ขณะที่ปัญหาการทับซ้อนเส้นทาง 145 เส้นทางของรถร่วมฯ กับรถ ขสมก.ที่รถร่วมฯ เสนอนั้น ขสมก.อ้างว่า คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางจะเป็นผู้ตัดสินปัญหานี้เพื่อพร้อมเสนอ ครม.
ขณะที่ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า จะสรุปข้อสังเกตุให้ พล.ต.สนั่น พิจารณาได้ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม หาก ครม.เห็นชอบให้ปรับลดวงเงินงบประมาณ คณะกรรมการ ขสมก.จะต้องเป็นผู้นำไปกำหนดกรอบวงเงินอีกครั้งโดยเฉพาะองค์ประกอบของค่าเช่ารถ งานระบบ และค่าเช่าอู่ ดังนั้นตัวเลขค่าเช่าอาจจะต่ำกว่ากรอบที่ ขสมก. เสนอ 5,100บาท/วัน/คัน
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--