ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (20 ส.ค.) จากแรงซื้อที่ส่งเข้าหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม ตลาดปิดบวกไม่มากนักเนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทแฟนนี เม และเฟรดดี แมค รวมทั้งราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 114 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 68.88 จุด หรือ 0.61% แตะที่ 11,417.43 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 7.85 จุด หรือ 0.62% แตะที่ 1,274.54 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 4.72 จุด หรือ 0.20% แตะที่ 2,389.08 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.1 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วนกว่า 1 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 1.8 พันล้านหุ้น
นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มการเงิน แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางกลุ่มเทขายหุ้นแฟนนี เม และเฟรดดี แมค หลังจากนิตยสารบาร์รอนรายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐอาจต้องซื้อหุ้นทั้งหมดของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค หากทั้งสองบริษัทไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนครั้งใหม่ แต่การที่กระทรวงการคลังจะนำเงินของผู้เสียภาษีมาอัดฉีดให้กับบริษัททั้ง 2 เช่นนี้ถือเป็นมาตรการกึ่งโอนกิจการเป็นของรัฐ และจะทำให้หนี้สินของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส แสดงความเห็นว่า หากแฟนนี เม และเฟรดดี แมค สามารถจ่ายคืนพันธบัตรมูลค่า 2.23 แสนล้านดอลลาร์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงปลายไตรมาสสามนั้น บริษัทก็จะสามารถหลีกเลี่ยงจากการถูกรวบกิจการเป็นของรัฐบาลได้ โดยแฟนนี เม จะต้องชำระคืนพันธบัตรมูลค่าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 30 ก.ย. ขณะที่เฟรดดี แมค จะต้องชำระคืนพันธบัตรมูลค่าราว 1.03 แสนล้านดอลลาร์
วิลเลียม ทาโนนา นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เลห์แมน บราเธอร์ส จะขาดทุนอย่างหนักถึง 2.5-3.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสสาม และเชื่อว่าการที่ภาคการเงินของสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นได้นั้นยังคงต้องเวลาอีก 2-3 ไตรมาส
นอกจากนี้ ทาโนนายังปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสสามและผลประกอบการตลอดปีพ.ศ.2551 ของเมอร์ริล ลินช์, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และมอร์แกน สแตนลีย์ โดยคาดว่าวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีโดยรวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว และส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งขาดทุนหนักสุดเป็นประวัติการณ์
"วิกฤตการณ์สินเชื่อส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและวาณิชธนกิจระลอกแล้วระลอกเล่า อีกทั้งกดดันให้สถาบันการเงินต้องลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี โดยเฉพาะเลห์แมน บราเธอร์ส ที่ผมคาดว่าจะต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีมากที่สุดในไตรมาสสาม" ทาโนนากล่าว
ก่อนหน้านี้ เคนเนธ โรจอฟฟ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า วิกฤติการเงินทั่วโลกยังไม่ผ่านพ้นภาวะเลวร้ายที่สุด และเตือนว่าธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐจะล้มละลายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐจะประสบกับปัญหาต่างๆมากขึ้น
"เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่พ้นจากปัญหา ผมคิดว่าวิกฤติการเงินได้มาถึงครึ่งทางแล้ว เราจะไม่เพียงแต่เห็นธนาคารขนาดกลางหลายแห่งล้มละลายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่เราจะเห็นอะไรที่ใหญ่กว่านั้นมาก โดยเราจะเห็นธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่หรือธนาคารยักษ์ใหญ่" นายโรจอฟฟ์ กล่าว โดยปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟในช่วงปี 2001-2004
ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX พุ่งขึ้น 45 เซนต์ แตะที่ 114.98 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากสหรัฐเปิดเผยสต็อคน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ แม้การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเรื่องเงินเฟ้อ แต่ก็ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มบริษัทพลังงานพุ่งขึ้น โดยหุ้นเฮส คอร์ปพุ่งขึ้น 5.3% และหุ้นโคโนโคฟิลลิปส์ ดีดขึ้น 2%
หุ้นแฟนนี เม ร่วงลง 1.61% หุ้นเฟรดดี แมค ดิ่งลง 22% ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารดีดตัวขึ้น โดยหุ้นเวลล์ส ฟาร์โกซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อจำนองรายใหญ่ พุ่งขึ้น 4.1% เพราะได้รับแรงหนุนจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพตลาดที่อยู่อาศัย ขณะที่หุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ทะยานขึ้น 4.3%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--