บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ(BAFS)คาดการณ์กำไรสุทธิและรายได้ในปี 51 ต่ำกว่าปีก่อน รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงและภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ซึ่งส่งผลให้ผู้คนเดินทางลดลง โดยปริมาณเติมน้ำมันในปีนี้ปรับลดเป้าหมายมาที่ 4.58 พันล้านลิตรจากเดิมตั้งไว้ 4.88 พันล้านลิตร หรือลดลง 6% ทำให้รายได้ลดลงเหลือ 1.57 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 2.2 พันล้านบาท หรือลดลงเกือบ 30% และคาดกำไรสุทธิ ลดลง 8-9% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 543.34 ล้านบาท
ส่วนในปี 52 เชื่อว่าสถานการณ์ก็จะยังไม่ดีขึ้นมากนัก แม้จะคาดว่าราคาน้ำมันคงปรับตัวลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกน่าจะยังแย่อยู่ ฉะนั้น ในปีหน้าบริษัทจึงตั้งเป้ารายได้และปริมาณเติมน้ำมันไว้แค่ไม่ให้ต่ำกว่าปีนี้
ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ BAFS กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำลง ทำให้ธุรกิจสายการบินที่เป็นลูกค้าของบริษัทต่างรับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว จึงส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ต้องปรับเป้าหมายเดิมลงมา
ดังนั้น บริษัทจึงได้ปรับเป้าปริมาณเติมน้ำมันลงมาที่ 4,577 ล้านลิตร จากเดิมที่ 4,882 ล้านลิตร หรือลดลงจากเป้า 6% แต่ใกล้เคียงปีก่อนที่มีปริมาณเติมน้ำมัน 4,600 ล้านลิตร ส่วนรายได้ปรับลดลง 2% จากเป้าเดิมที่ 1.6 พันล้านบาท มาที่ 1.57 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ 20% ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังบาทอ่อนตัว ช่วยให้รายได้ไม่ลดลงมากเกินไป
"ครึ่งปีหลังผมก็มองว่า เราก็คงลดลง เพราะครึ่งปีแรกไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ฉะนั้น ครึ่งปีหลังถึงแม้จะเป็นช่วงไฮซีซั่น แต่ดูแล้วสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ผู้โดยสารลดน้อยลง สองปัจจัยนี้ถึงแม้จะเป็นช่วงไฮซีซั่น แต่ก็คงจะยังไม่ฟื้นตัว เพราะฉะนั้นปริมาณเติมน้ำมันเราคาดว่าจะลดลง"ม.ร.ว.ศุภดิศ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อนึ่ง ปริมาณเติมน้ำมันในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2,321 ล้านลิตร ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,429 ล้านลิตร ประมาณ 4% ทำให้กระทบรายได้และกำไรครึ่งปีแรกลดลง โดยช่วง 6 เดือนแรก BAFS มีรายได้รวม 1.1 พันล้านบาท ใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิ 265 ล้านบาท ลดลจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 316 ล้านบาท
ม.ร.ว.ศุภดิศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทตั้งประมาณการปริมาณเติมน้ำมันช่วงครึ่งปีหลังไว้ที่ 2,453 ล้านลิตร แต่ขณะนี้คาดว่าจะลดลง 6% จากเป้า เหลือประมาณ 2,306 ล้านลิตร หรือต่ำลงไปอีก 147 ล้านลิตร ทั้งปี ตั้งประมาณการปริมาณเติมน้ำมัน 4,882 ล้านลิตร เป็น 4,577 ล้านลิตร หรือลดลง 6%
ดังนั้น กำไรสุทธิในปี 51 คาดว่าจะลดลงประมาณ 8-9% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 543.34 ล้านบาท แม้รายได้ลดลงไม่มาก แต่เนื่องจากบริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่าย กว่า 400 ล้านบาท และค่าเสื่อมราคา
กรรมการผู้จัดการ BAFS คาดว่าในงวดปี 51 น่าจะจ่ายเงินปันผลได้ต่ำกว่าปีก่อน เป็นไปตามกำไรสุทธิที่คาดว่าจะลดลง แต่ยังจ่ายตามนโยบายที่ไม่ต่ำกว่า 50%ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทได้ประกาศจ่ายเงินป้นผลสำหรับงวด 6 เดือนแรกที่อัตราหุ้นละ 0.15 บาท จากงวดครึ่งแรกของปี 50 ที่จ่าย 0.20 บาท และทั้งปีจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.52 บาท
แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นระยะยาว ทราบอยู่แล้วว่าการลงทุนของบริษัทเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งใช้เงินจำนวนมาก จึงไม่ได้หวังเงินปันผลเพียง 2-3 ปี
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ได้แก่ บมจ.การบินไทย(THAI), บมจ.ปตท.(PTT), บมจ.เอสโซ่ ประเทศไทย(ESSO), บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย และ บริษัท เชฟรอน(ไทย) จำกัด เป็นต้น
สำหรับปีหน้ามองว่าธุรกิจก็ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น หากการเมืองเรานิ่ง รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มองเป็นบวก(upside)ก็จะช่วยได้ ซึ่งตอนนี้ตั้งเป้าไว้ว่าผลประกอบการจะไม่น้อยกว่าปีนี้
"ปีหน้าก็ไม่ใช่ปีของเรา ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะลงมา แต่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว คนก็ยังไม่เดินทาง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้มากรณรงค์ให้คนมาเที่ยวในไทยมากปีหน้าก็จะดีขึ้น แต่ผมดูแล้วรัฐบาลเราเสถียรภาพก็ยังไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นจะส่งเสริมการท่องเที่ยวก็คงลำบาก" ม.ร.ว.ศุภดิส กล่าว
*หารายได้อื่นชดเชย
ม.ร.ว.ศุภดิส กล่าวว่า หลังจากผลประกอบการครึ่งปีแรกไม่ดี บริษัทจึงปรับแผนเพิ่มรายได้ ด้วยการปรับขึ้นค่าบริการเติมน้ำมันจาก 0.55 บาท/ลิตร เป็น 1.00 บาท/ลิตร สำหรับเครื่องบินที่เติมน้ำมันต่ำกว่า 4 พันลิตรภายในสนามบินดอนเมือง สนามบินสมุย และสนามบินสุโขทัย ได้แก่ เครื่องบินชาร์ตเตอร์ไฟลท์ เครื่องบินส่วนตัว เป็นต้น ยกเว้นหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนค่าบริการเติมน้ำมันที่สนามบินสุวรรณภูมิยังคงเดิม
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าบริการครั้งนี้ช่วยเพิ่มรายได้ไม่มากนัก เพราะสายการบินต้นทุนต่ำก็ลดเที่ยวบิน บางสาย อย่างวันทูโกก็หยุดบินไปช่วงนี้ แต่การปรับขึ้นอย่างน้อยก็ช่วยให้ครอบคลุมต้นทุนในสนามบินดอนเมืองได้บ้าง เพราะเป็นสนามบินรองที่มีผู้ใช้บริการไม่มากเท่าสนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นสนามบินหลัก
ขณะเดียวกัน บริษัทก็พยายามควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เช่น ลดสิทธิประโยชน์ของฝ่ายบริหาร เป็นต้น และนำสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยกลางปีที่ผ่านมาบริษัทได้ขายที่ดินบริเวณลาดกระบังราคา 100 ล้านบาท
"วอลุ่ม(ปริมาณเติมน้ำมัน)หายไป 6% แต่รายได้หายไปประมาณ 2% เราคิดว่าเราหารายได้อื่นเข้ามาช่วยได้ แต่กำไรคงหายไปไม่มากกับปีก่อน ครึ่งปีแรกกำไรเราลดลงไป 9% คิดว่าครึ่งปีหลังกำไรก็คงลดลงไป 8-9% ทั้งปีก็คิดว่าลดลงไป 8-9% เพระเรามีดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสื่อมราคา แต่ถ้าดู EBITDA เราอาจใกล้เคียงกับปีที่แล้ว"ม.ร.ว.ศุภดิส กล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้บริษัทไม่มีแนวคิดปรับขึ้นค่าบริการ เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นซ้ำเติมธุรกิจสายการบิน ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัท บริษัทก็ต้องช่วยประคับประคองให้ธุรกิจสายการบินรอดเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาวมากกว่า
ขณะที่บริษัทก็มีภาระแบกรับเงินกู้และดอกเบี้ยกว่า 400 ล้านบาทในปีนี้ จากเงินกู้ทั้งหมด 2,600 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสาร 70 ล้านคน/ปี ซึ่งมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว โดยบริษัทได้ขอขยายระยะเวลาชำระคืนออกไปอีก 2 ปี เป็น 7 ปี
"เรามีภาระเงินต้นกับดอกเบี้ยค่อนข้างจะสูงในปีนี้ เฉพาะ BAFS ยังไม่นับบริษัทลูก แต่ก็เขายังมีเงินจ่ายของเขาเองได้ เขามีกำไร จ่ายเงินปันผลให้เราได้ เราไม่ต้องกังวล ทั้งสองบริษัทเราลงทุนถูกต้อง เพราะทั้งสองบริษัทมีกำไรตังแต่เปิดดำเนินการ" ม.ร.ว.ศุภดิส กล่าว
ล่าสุด BAFS ได้เข้าลงทุน บริษัท เจพี-วัน แอสเซ็ท จำกัด( JP-One)ผู้ดำเนินโครงการวางท่อส่งน้ำมันอากาศยานไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่มขึ้นอีก 42.5% จากเดิมถือ 50% เป็น 92.5% โดยซื้อ จาก Siam Investment Fund และ Finansa Fund Management Limited จำนวน 300 ล้านบาท
ส่วนอีกบริษัทคือ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO)ถือสัดส่วน 45% เป็นผู้ให้บริการเชื้อเพลิงการบิน โดยได้รับอนุญาตให้บริการระบบท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในสนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้ง TARCO และ JP-One มีภาระเงินกู้รวมกัน ประมาณ กว่า 4 พันล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--