ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 170 จุดเมื่อคืนนี้ (29 ส.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนก.ค.ที่อ่อนแอเกินคาด และผลประกอบการที่ต่ำเกินคาดของบริษัทเดลล์ได้ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงด้วย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 171.22 จุด หรือ 1.5% แตะที่ 11,543.96 จุด ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดลบ 44.12 จุด แตะที่ 2,367.52 จุด และดัชนี S&P ปิดลบ 17.85 จุด หรือ 1.4% แตะที่ 1,282.83 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดนิวยอร์กมีอยู่ราว 959.1 ล้านหุ้น เมื่อเทียบกับวันพฤหัสบดีที่ 956.2 ล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1
โรเบิร์ต ไดร์ นักวิเคราะห์จาก PNC Financial Services Group กล่าวว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่ารายได้ส่วนบุคคลของชาวอเมริกันในเดือนก.ค.ร่วงลง 0.7% ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์ธอมสัน/ไอเอฟอาร์คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.1% ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายซบเซาลงเนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากปลีกตัวออกไปอยู่นอกตลาดก่อนที่จะถึงวันหยุดแรงงานในสหรัฐ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 1 ก.ย.
แซล กูทิเยร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท BMO Capital Markets กล่าวว่า ชาวอเมริกันต้องเผชิญกับอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นรุนแรงและมูลค่าบ้านที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้ชาวอเมริกันลดการซื้อสินค้ารายการใหญ่ อาทิ รถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังนำเช็คเงินคืนภาษีที่ได้จากรัฐบาลมาใช้หมดแล้ว และไม่ต้องการนำเงินของตนเองของมาใช้ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้
ตลาดหุ้นนิวยอร์กแทบจะไม่ตอบรับรายงานของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน และไม่สนใจต่อรายงานของสำนักงานจัดการด้านอุปทานที่ระบุว่า ดัชนีคำสั่งซื้อภาคโรงงานในเมืองชิคาโกซึ่งเป็นมาตรวัดสภาวะทางธุรกิจทั่วรัฐอิลลินอยส์ มิชิแกน และอินเดียนา พุ่งขึ้นแตะระดับ 57.9 จุดในเดือนส.ค.
นักลงทุนให้น้ำหนักกับการแสดงความคิดเห็นของนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐที่ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในสหรัฐจะกินเวลาต่อเนื่องยาวนาน เมื่อพิจารณาจากตัวเลขว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง
"ตัวเลขการจ้างงานปรับตัวลดลงมานานหลายเดือน" นายซัมเมอร์ส ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดกล่าว "ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นเริ่มเหือดหายและทำให้อัตราการจับจ่ายซื้อสินค้าปรับตัวลดลงเป็นเวลานาน ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มซบเซาลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในขณะที่ราคาบ้านลดต่ำลง ประกอบกับแนวโน้มในตลาดแรงงานที่หดตัวลงได้สร้างแรงบีบคั้นต่อตัวเลขการใช้จ่ายด้วยเช่นกัน"
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคการเงินของสหรัฐ หลังจากนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ เตรียมลดจำนวนพนักงานอีก 1,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 4% ของอัตราจ้างงานภายในองค์กร ซึ่งเป็นการลดจำนวนพนักงานครั้งที่ 4 ในปีนี้ หลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์สประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักในตลาดปล่อยกู้จำนองและพยายามเพิ่มทุนเพื่อหนุนสภาพคล่องมาโดยตลอด โดยคาดว่าเลห์แมนจะประกาศแผนการลดจำนวนพนักงานในวันเดียวกับที่จะเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ในเดือนหน้า
ริชาร์ด โบฟ นักวิเคราะห์จาก Ladenburg Thalmann & Co.ในรัฐฟลอริด้ากล่าวว่า "ที่ผ่านมานั้น ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ได้ลดจำนวนพนักงานลงแล้วกว่า 101,250 ตำแหน่ง เนื่องจากขาดทุนในตลาดสินเชื่อและปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ในตลาดซับไพรม์ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว และสร้างความเสียหายกว่า 5.12 แสนล้านดอลลาร์"
หุ้นเดลล์ร่วงลง 14% หลังจากบริษัทเปิดเผยผลประกอบการที่ต่ำเกินคาด ขณะที่หุ้นมาร์เวลล์ เทคโนโลยี ดิ่งลง 4.4% หุ้นแอปเปิลร่วงลง 2.4% หุ้นไมโครซอฟท์ร่วงลง 2.3% และหุ้นอินเทลร่วงลง 3.1% ส่วนหุ้นแฟนนี เม ร่วงลง 14% และหุ้นเฟรดี แมค ดิ่งลง 15%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--