บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศให้อันดับเครดิตหุ้นกู้มีหลักประกันเลขที่ 1/2551 งวดที่ 1 มูลค่า 1 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปีพ.ศ. 2553 และหุ้นกู้มีหลักประกันเลขที่ 1/2551 งวดที่ 2 มูลค่า 1 พันล้านบาท ของบมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ที่ AAA(tha)
ฟิทช์ระบุว่า การให้อันดับเครดิตแก่ AEONTS ครั้งนี้พิจารณาจากข้อมูลที่ว่า หุ้นกู้ทั้งสองชุดจัดหาโดยมิซูโฮ คอร์ปอเรท แบงค์ และได้รับการประกันโดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) โดยไม่มีเงื่อนไข
โดยอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้สะท้อนถึงการค้ำประกันในลักษณะเต็มจำนวน ไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้จาก Mizuho Corporate Bank (MHCB) แก่หุ้นกู้ทั้ง 2 ชุด โดย MHCB มีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Foreign Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘A+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ยังพิจารณาถึงการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้ จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) แก่หุ้นกู้ชุดที่ 2 โดย JBIC มีรัฐบาลญี่ปุ่นถือหุ้น 100 % และมีฐานะเป็นธนาคารที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ ‘AA’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
เนื่องจากอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกันทั้งสองสูงกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Local Currency Rating) ของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ ‘A’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าว จึงมีอันดับเท่ากับอันดับเครดิตภายในประเทศของรัฐบาลไทยที่ระดับ ‘AAA(tha)’ ในการเรียกร้องการชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน ผู้ถือหุ้นกู้สามารถเรียกร้องเงินต้นและดอกเบี้ยจาก MHCB ได้เป็นอันดับแรก เมื่อมีเหตุที่ทำให้ MHCB ไม่สามารถชำระคืนหนี้ในหุ้นกู้ชุดที่ 2 ได้ JBIC จะรับผิดชอบชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระในส่วนของเงินต้นดังกล่าว การค้ำประกันของ JBIC ถือเป็นส่วนสนับสนุนอันดับเครดิตเพิ่มเติมของหุ้นกู้ชุดที่ 2 ความแตกต่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างอันดับเครดิตของผู้ค้ำประกัน และประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าว
อันดับเครดิตของ MHCB สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายธนาคารทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ คุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีและเงินทุนที่แข็งแกร่ง ในปีประกอบการสิ้นสุด มีนาคม 2551 MHCB รายงานผลขาดทุน 5.57 หมื่นล้านเยน ลดลงจากผลกำไร 3.9 แสนล้านเยนในปีก่อนหน้า ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจากการตั้งหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม ขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทย่อย (Mizuho Securities) และขาดทุนในเงินลงทุนประเภทโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitisation) อย่างไรก็ตาม MHCB ยังคงขยายฐานธุรกิจของธนาคารอย่างต่อเนื่องทั้งด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ และธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และยังได้ขยายฐานธุรกิจไปยังต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา คุณภาพสินทรัพย์ของ MHCB จัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ดีที่สุดของกลุ่มธนาคารภายในประเทศและในภูมิภาคเดียวกัน โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 1.6 % ของสินเชื่อทั้งหมด ณ สิ้นมีนาคม 2551
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--