นายอารีย์ พุ่มเสนาะ ประธานกรรมการ บมจ. ซี.ไอ.กรุ๊ป(CIG) ยอมรับว่า สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนี้อาจส่งผลกระทบทำให้รายได้ของบริษัทในปีนี้อาจพลาดเป้าจากที่ตั้งไว้ว่ากำไรและรายได้ในปีนี้จะเติบโตถึง 100% แต่ขณะนี้มีแนวโน้มรายได้อาจจะอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อนเล็กน้อยเท่านั้น
ในปี 50 บริษัทมีรายได้ 1.3 พันล้านบาท โดยบริษัทประกอบธุรกิจในการผลิตคอยล์เย็น คอยล์ร้อน และคอยล์น้ำเย็น ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น และอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อน-ความเย็นประเภทอื่นๆ โดยการผลิตสินค้าของบริษัทจะเป็นการผลิตตามคำสั่งของลูกค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
นายอารีย์ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ลูกค้ากังวลและชะลอการสั่งซื้อสินค้าไปบางส่วน โดยเฉพาะลูกค้าตลาดส่งออก ซึ่งลูกค้าจากสิงค์โปร์ที่ควรจะต้องปิดดีลเจรจาภายในเดือน ส.ค.แต่ขณะนี้ก็ยังเจรจาอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าดีลลูกค้าสิงค์โปร์จะสามารถเร่งให้จบภายในเดือนก.ย นี้ เพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่
ทั้งนี้ หากสามารถปิดการเจรจากับลูกค้ารายดังกล่าวได้ ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ในอนาคตและในระยะยาว เพราะออร์เดอร์จะมีลักษณะสัญญาระยะยาว 3- 5 ปี และปริมาณออเดอร์แผงทำความเย็นตู้แช่แข็งสูงกว่าแสนตัวต่อครั้ง จากปัจจุบันที่จะรับคำสั่งเป็นชิ้นตามออเดอร์และจำนวนไม่มาก
"สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ลูกค้าเราชะลอในการสั่งออเดอร์ ไม่ใช่เราไม่อยากได้ลูกค้า เราก็พยายามส่งพนักงานไปคุยสม่ำเสมอและก็มีแนวโน้มที่ดีที่จะจบได้ในเดือนก.ย.นี้"นายอารีย์ กล่าว
นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทอาจมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงแรมที่เพิ่งเข้าลงทุนจำนวน 145 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว จากนั้นจะไปรับรู้รายได้เต็มที่ในปีหน้า ถือเป็นการเพิ่มรายได้และผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นนอกเหนือจากธุรกิจปัจจุบัน
อนึ่ง คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการเข้าลงทุนในบริษัท เดอ ละไม จำกัด ด้วยการซื้อหุ้นจำนวน 999,680 หุ้น ในสัดส่วนร้อยละ 99.97 รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 144,953,600 บาท
นายอารีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเจรจารับออร์เดอร์จากลูกค้าสิงคโปร์นั้น ในอนาคตอาจจะขยับฐานะขึ้นมาเป็นพันธมิตร ซึ่งอาจเป็นลักษณะการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาและแบ่งสัดส่วนการถือหุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงอยู่ที่ลูกค้าสิงคโปร์จะเห็นด้วยหรือไม่ รวมทั้งสถานการณ์โดยรวมที่จะต้องประเมินควบคู่ไปด้วย ส่วนจะไปถึงขึ้นการตั้งบริษัทใหม่นั้นคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี เพราะฉะนั้นคงเห็นภาพชัดเจนในปีหน้ามากกว่า
ส่วนแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2,000 ล้านตารางนิ้ว/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,300 ล้านตารางนิ้ว/ปี คงจะติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้นในไตรมาส 3/51 และจะเดินเครื่องในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/51
นายอารีย์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นที่จะขยายสัดส่วนรายได้จากตลาดส่งออกให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 50% จากปีก่อนอยู่ที่ 30% ของรายได้รวม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำสินค้าตัวอย่างส่งให้พันธมิตรในต่างประเทศไปทดลองเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ในอนาคตมีคำสั่งซื้อทั้งจากลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--