สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)เตรียมรวบรวมข้อมูลการขยายเวลาจ่ายส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางโครงการทางพิเศษเฉลิมมหานครหรือทางด่วนขั้นที่ 1 และทางพิเศษศรีรัชหรือทางด่วนขั้นที่ 2 ในอัตรา 40% ของรายได้ให้กับบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ(BECL)ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง พร้อมทั้งส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ดำเนินการสอบสวนเอาผิดบอร์ด กทพ.เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบธรรมเพราะเอื้อกลุ่มทุนบางกลุ่ม
นายศราวุธ ศรีพยัคฆ์ ประธานสหภาพฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการกทพ.เคยตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องนี้มาแล้ว โดยมีนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวมีมติให้รอคำพิพากษาของศาลก่อน และในขณะนี้ศาลฎีกาใกล้จะมีคำพิพากษาออกมาแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดคณะกรรมการกทพ.ชุดปัจจุบันจึงต้องเร่งพิจารณาอนุมัติเรื่องนี้ แทนที่จะรอให้ศาลฏีกามีคำพิพากษาออกมาก่อน
"การขยายเวลาจ่ายส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางให้บีอีซีแอล เหมือนเป็นการขยายอายุสัมปทานให้เอกชนได้เงินฟรี โดยไม่ต้องทำอะไร ที่ผ่านมา กทพ.เคยถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้แพ้คดีค่าโง่ทางด่วนมาแล้ว แต่เมื่อคดีถึงที่สุด ศาลพิพากษาให้กทพ.ชนะคดี โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว และขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะต้องจ่ายเงินให้บีอีซีแอล แต่บอร์ดกลับอนุมัติให้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว และถ้าจะต้องจ่ายเพราะคำสั่งศาลยังสบายใจกว่า" นายศราวุธ กล่าว
นายสุรชัย ธารสิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ กทพ.เปิดเผยว่า สาเหตุที่คณะกรรมการกทพ.อนุมัติขยายเวลาให้กับ BECL ต่อไปอีก 8 ปี 10 เดือน หลังครบอายุสัมปทานในปี 2563 เพราะต้องการลดความเสี่ยงในอนาคต หลังจากบีอีซีแอลยื่นฟ้อง กทพ.กรณีที่ไม่อนุมัติให้ปรับค่าผ่านทางตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานในปี 2541 และปี 2546 และยังขอสงวนสิทธิในการฟ้องร้องในการปรับค่าผ่านทางล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าได้รับความเสียหายสูงถึง 7.8 หมื่นล้านบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาให้กทพ.แพ้คดีปรับค่าผ่านทางปี 2541 ไปแล้ว
"ถ้าครั้งแรกแพ้ ครั้งต่อมาก็คงแพ้ เมื่อถึงจุดนั้น กทพ.จะเจรจาอย่างไรก็คงไม่ได้ ส่วนการที่ไม่รอจนกว่าคดีจะถึงที่สุดเพราะไม่รู้ว่าผลคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไร ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์เอกชน แต่เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยใช้เหตุผลในการเจรจายุติข้อพิพาท ถือเป็นการตัดสินใจขององค์กร และยังส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในไทย"นายสุรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายชดเชยให้ BECL หลังครบอายุสัมปทานจะคิดเป็นเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ BECL จะยอมรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปรับค่าผ่านทางครั้งต่อไปในปี 2556 ซึ่งการขยายเวลาดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสิทธิของ BECL ในการขอต่ออายุสัมปทาน เพราะเป็นคนละประเด็น
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ศศิธร/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--