(เพิ่มเติม) กฟผ.ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ"เก็คโค่-วัน"เริ่มผลิตปลายปี 54

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 10, 2008 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท เก็คโค่-วัน ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.โกลว์พลังงาน(GLOW) กับ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ) ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าขายให้แก่ กฟผ. รองรับความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นปลายปี 54 เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ เสริมความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศทุกภาคส่วน
โครงการดังกล่าวได้เริ่มเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2554 นี้ โดยมีมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 1,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินทุนส่วนหนึ่งประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐจะมาจากเงินกู้ยืมและส่วนที่เหลือจะมาจากส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งได้แก่กลุ่มบริษัทโกลว์ ร้อยละ 65 และบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 35 โดยมีบริษัท Doosan Heavy Industries and Construction จากประเทศเกาหลี เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการ
นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท เก็คโค่-วัน เป็นโครงการแรกของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(รอบใหม่) และเป็นความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.ได้ตามที่กำหนดไว้ในเดือน พ.ย.54 โดยจะรองรับความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ส่งเสริมความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศทุกภาคส่วน
อนึ่ง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ได้ออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.50 โดยเปิดขายเอกสารเชิญชวนฯ(Request for Proposal:RFP) ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-27 ก.ค.50 กำหนดรับซองข้อเสนอโครงการเมื่อวันที่ 19 ต.ค.50 นั้น ปรากฏว่ามีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 4 ราย รวม 4,400 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน 2 ราย และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 ราย
สำหรับบริษัท เก็คโค่-วัน ถือหุ้นโดยกลุ่มบริษัท โกลว์ ร้อยละ 65 และ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน อีกร้อยละ 35 เป็นหนึ่งในสองโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านการคัดเลือก ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.จำนวน 660 เมกะวัตต์ และมีอายุสัญญา 25 ปี
ด้าน นายอนุตร จาติกวณิชย์ กรรมการ GLOW กล่าวว่า แม้ต้นทุนโรงไฟฟ้า IPP จะสูงขึ้น แต่ทางบริษัทไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการทำข้อตกลงเรื่องค่าก่อสร้างและเงินกู้ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยใช้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศเกาหลี ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องปรับราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย โดยโครงการนี้ใช้เงินลงทุน 1,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนถ่านหินที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านั้นจะสั่งซื้อจากประเทศอินโดนีเซีย และขณะนี้อยู่ระหว่างการชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชน ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาเหมือนโครงการอื่นๆ เพราะก่อสร้างในพื้นที่เดิม
นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน GLOW กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เงินกู้จำนวน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็น เงินกู้สกุลดอลลาร์ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยแบบ LIBOR+Margin และเงินกู้สกุลบาทอีก 6,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยใช้แหล่งเงินกู้จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์สเตอร์ด, ธนาคารสุมิโตโม้ และ KfW ซึ่งคาดว่าจะสามารถกู้เงินได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าของบริษัทมีความต้องการใช้ถ่านหินประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2 พันเมกะวัตต์ แต่หากโรงไฟฟ้านี้เริ่มผลิตจะมีความต้องการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นอีกราวปีละ 9 แสนตัน
นายสุทธิวงศ์ กล่าวว่า ในปี 53 บริษัทจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า SPP ขนาดกำลังการผลิต 115 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบัน และในปี 54 จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า SPP ขนาดกำลังการผลิต 380 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกับโรงไฟฟ้า IPP ที่เนสัญญาในวันนี้จะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 50% จากปัจจุบัน
ด้านนายปีเตอร์ เทอร์โมท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทโกลว์ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศลดระดับการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตลง และเป็นการเสนอขายไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับ กฟผ.
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไปผลประกอบการของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกำลังการผลิตใหม่นี้ และภายในปี 2554 โกลว์จะมีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งในด้านของขนาดและรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ