ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กข่าวเลห์แมนยื่นขอคุ้มครองล้มละลาย ฉุดดาวโจนส์ดิ่งเหว 504.48 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 16, 2008 06:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงหนักสุดในรอบ 7 ปีเมื่อคืนนี้ (15 ก.ย.) หลังจากมีรายงานว่า เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์สินจากภาวะล้มละลายตามกฎหมาย ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่เสี่ยงล้มละลายเพิ่มขึ้น
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ทรุดฮวบ 504.48 จุด หรือ 4.42% ปิดที่ 10,917.51 จุด ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2544 ขณะที่ดัชนี S&P 500 ดิ่งลง 59.00 จุด หรือ 4.71% ปิดที่ 1,192.70 จุด ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดในรอบ 7 ปี และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 81.36 จุด หรือ 3.60% ปิดที่ 2,179.91 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.80 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 19 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.69 พันล้านหุ้น
แบร์รี่ ริโทล นักวิเคราะห์จาก FusionIQ กล่าวว่า "ระบบการเงินของสหรัฐสั่นสะเทือนเมื่อเลห์แมน บราเธอร์ส ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลแขวงกรุงนิวยอร์กเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์สินจากภาวะล้มละลายตามกฎหมาย ข่าวดังกล่าวส่งแรงกระเพื่อมไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นในเอเชียและยุโรป นักลงทุนตื่นตระหนกมากขึ้นเมื่ออลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดได้แสดงความเห็นว่าอาจมีสถาบันการเงินส่อเค้าล้มละลายอีก"
เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐยืนยันว่า บริษัทได้ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลาย หลังจากแบงค์ ออฟ อเมริกา และธนาคารบาร์เคลย์ส ปฏิเสธที่จะเข้าซื้อกิจการเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งธุรกิจที่ยื่นฟ้องขอพิทักษ์การล้มละลายครั้งนี้เป็นธุรกิจโฮลดิ้ง และไม่ครอบคลุมถึงบริษัทในเครือ
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและเจ้าหน้าที่เฟดได้จัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือถึงทางออกของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจเก่าแก่ของสหรัฐที่ก่อตั้งมานานถึง 158 ปี หลังจากเลห์แมนขาดทุนอย่างหนักถึง 3.9 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 โดยนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐที่เพิ่มประกาศแผนเข้าอุ้มกิจการแฟนนี เม และเฟรดดี แมค เมื่อสัปดาหก่อน กล่าวว่า เขาไม่คิดที่จะนำงบประมาณของรัฐบาลมากู้วิกฤตของเลห์แมน
อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นว่า วิกฤตการณ์ด้านการเงินในสหรัฐที่เริ่มต้นจากปัญหาในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพรม์) เมื่อปีที่แล้วนั้น อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีสถาบันการเงินล้มละลายอีกหลายแห่ง
"ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิกฤตการณ์จะลุกลามรวดเร็วอย่างชนิดที่ตัวผมเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน และสถานการณ์ดังกล่าวจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะใกล้นี้ ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์สในขณะนี้นั้น รัฐบาลสหรัฐควรดำเนินมาตรการอย่างรอบคอบในการรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้นกับเลห์แมน บราเธอร์ส ผมคาดว่าอาจมีธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐ ประสบปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นล้มละลายเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่รัฐบาลก็ไม่ควรเข้าไปพยุงหรือช่วยเหลือทั้งหมด" กรีนสแปนกล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "This Week with George Stephanopoulos" ทางสถานีโทรทัศน์ ABC
ปีเตอร์ เคนนี กรรมการผู้จัดการบริษัท Knight Capital Group Inc ในรัฐนิวเจอร์ซี กล่าวว่า "ระบบการเงินทั่วโลกมาถึงจุดพลิกผันและเปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างเดิม และกลายเป็นระบบการเงินแบบใหม่ที่ยากแก่การคาดเคาทิศทางในอนาคต ซึ่งถือเป็นระบบที่ 'ไม่พึงประสงค์' แรงขับเคลื่อนที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมการเงินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้าม บริษัทที่เคยเฟื่องฟูจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์กลับถูกยึดกิจการ และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ตกต่ำลงอย่างรุนแรง"
บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG) กำลังทำเรื่องขอเงินกู้โดยตรงจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทก็กำลังพยายาที่จะขายสินทรัพย์บางส่วน โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า AIG หาทางระดมทุนในหลักทรัพย์ค้ำประกันกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทต่างๆ อาทิ Kohlberg Kravis Roberts & Co. และ J.C. Flowers & Co เพื่อหวังประคับประคองบริษัทให้รอดพ้นจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ มีรายงานว่า เมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ เจรจาควบรวมกิจการและขายหุ้นให้กับแบงก์ ออฟ อเมริกา โดยแบงค์ ออฟ อเมริกา เข้าซื้อหุ้นสามัญของเมอร์ริล ลินช์ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมทั้งซื้อออปชัน หุ้นแปลงสภาพ และหน่วยหุ้น RSU (restricted stock units) เป็นมูลค่ารวมกันอีก 6 พันล้านดอลลาร์
หุ้นกลุ่มการเงินดิ่งเหว โดยหุ้นวอชิงตัน มิวชวล ดิ่งลง 27% หุ้นวาโชเวีย คอร์ป ร่วงลง 25% หุ้นเอไอจี ทรุดลง 60.8% หุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ปิดร่วงลง 21.3% แต่หุ้นเมอร์ริล ลินช์ ปิดบวก 0.1%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ