โบรกฯมองพิษเลห์แมนกระเทือนตลาดเงิน แบงก์เรียงหน้าบอกไม่มีเอี่ยว-BAY ติดแห CDO

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 16, 2008 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส(ASP)กล่าวว่า การลงทุนในตราสารทุนของเลห์แมนฯในประเทศไทยมีโอกาสที่จะถูกขายออกมา แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องถูกขายออกมาทั้งหมด ขึ้นอยู่ที่วิธีการแก้ไขของเลย์แมนฯ ซึ่งเท่าที่ดูก็ไม่ค่อยจะเห็นชื่อเลห์แมนฯที่มาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเท่าไร 
"จากที่ปรากฏออกมาก็จะมีก็เพียงหุ้น บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) ที่เลห์แมนฯถืออยู่กว่า 70% ซึ่งถือโดยบริษัทในเครือ ส่วนหุ้นบมจ.แอสคอน คอนสตรัคชั่น (ASCON)ทางเลห์แมนฯก็ถืออยู่น้อยแค่ 7.5% ส่วนการปล่อยกู้ให้ บมจ.ไรมอนแลนด์(RAIMON)ตอนนี้ก็ยังไม่ครบดีลที่จะเรียกชำระคืน ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อ RAIMON เพราะเลห์แมนฯยังไม่มีสิทธิ์จะมาเรียกคืน
ส่วนการลงทุนในโรงแรมเมอร์คิวรี่ ในกรุงเทพฯ และบริษัท สิริภูเก็ต ก็เป็นการลงทุนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯแล้ว"นายเทิดศักดิ์ กล่าว
ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ASP กล่าวว่า ผลกระทบจากการล้มของเลห์แมนฯคงจะไม่มีมากในตลาดหุ้นไทย แต่จะมีในส่วนของตลาดเงินมากกว่า และที่น่าห่วงเป็นผลกระทบที่จะตามมาในแง่ของลูกโซ่มากกว่า ว่าจะมีรายอื่นใดเป็นแบบนี้อีกหรือไม่ ทำให้ตลาดมีความวิตกกังวลทั้งในเรื่องแนวโน้มของเม็ดเงินที่จะไหลออกไป พอเกิดเรื่องของเลห์แมนฯก็ทำให้เป็นแรงกระตุ้นให้เม็ดเงินไหลออกเร็วขึ้น อีกเรื่องก็ทำให้เกิด panic sell ในตลาดฯอย่างที่เห็นในวันนี้(16 ก.ย.)ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงกว่า 3% ในช่วงเช้าแล้ว
บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า จากผลการสอบถามไปยังธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY)พบว่าผลกระทบในรูปของการลงทุนในตราสาร CDO ที่มีเลห์แมน บราเธอร์ส เป็น 1 ใน 200 บริษัทที่มีส่วนใน CDO ดังกล่าว
เงินลงทุนใน CDO ทั้งหมดของ BAY มีอยู่ประมาณ 85 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.8 พันล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 30 มิ.ย.51 มีการตั้งสำรองฯไปแล้ว 51% ดังนี้จึงยังคงมีความเสี่ยงสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1.4 พันล้านบาท (ในขณะที่ประมาณการของเราได้ตั้งสำรองฯไปแล้ว 80% ดังนี้จึงมีความเสี่ยงเพียงแค่ 600 ล้านบาท)
ส่วน KBANK ได้ยืนยันกลับมาทางฝ่ายวิจัยอีกครั้งหนึ่งเช้านี้ว่า ไม่มีธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ ด้าน KTB, SCIB, TMB, TISCO ในเบื้องต้นทางธนาคารยังปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน
ในส่วนของการทำธุรกรรมกับเลแมนนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีการปล่อยสินเชื่อและลงทุนในตราสารต่างๆ ประมาณ 4.3 พันล้านบาท และธุรกรรมอนุพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมประเภท interest rate swap มูลค่าตามสัญญาประมาณ 5.3 พันล้านบาท
สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่มีการเปิดสาขาของเลห์แมน บราเธอร์ส ดังนั้นผลกระทบที่มีต่อระบบการเงินไทยคงมีแต่ธุรกรรมที่เกิดในตลาดการเงินเท่านั้น เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน ต่างๆ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ 14 แห่งมีเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.ประมาณ 102,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด ซึ่งนับว่ายังอยู่ในสัดส่วนที่น้อยจึงยังแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับปัญหาการเงินในสหรัฐได้
อนึ่ง หุ้นในกลุ่มแบงก์ และกลุ่มพลังงาน นำดิ่งด้วยการปรับตัวลงกว่า 4% (เมื่อเวลา 11.07 น.)หลังจากที่เกิดกรณีการล้มละลายของ เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธรกิจใหญ่อันดับ 4 ในสหรัฐฯ ขณะที่เช้านี้ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 621.26 จุด ลดลง 21.13 จุด(-3.29%)มูลค่าซื้อขาย 4,675.69 ล้านบาท
เลห์แมน บราเธอร์ส เป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดอันดับ 4 และเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของภาคการเงินของสหรัฐด้วย ซึ่งมีอายุเก่าแก่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2393

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ