นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า แม้ว่าตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับตลาดตราสารหนี้ยังเห็นนักลงทุนต่างชาติเป็นยอด Net buy โดยตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างประเทศมียอดซื้อตราสารหนี้สะสมเท่ากับ 61,485 ล้านบาท
ภาวะตลาดตราสารหนี้ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.51 มีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการออกรวม 7,393,272 ล้านบาท โดยพันธบัตร ธปท.เป็นตราสารหนี้ที่ออกมากที่สุดด้วยมูลค่า 5,925,582 ล้านบาท หรือประมาณ 80% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ออกใหม่ทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2,618,704 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
รองลงมาได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น(Commercial Paper: CP) มูลค่า 735,938 ล้านบาท
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วเงินคลังมีปริมาณการออกตราสารหนี้ใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 157,502 ล้านบาท และ 326,000 ล้านบาท ตามลำดับ
นายณัฐพล กล่าวว่า หุ้นกู้ภาคเอกชนมีปริมาณการออกหุ้นกู้ใหม่ทั้งสิ้น 152,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อน ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่มีการออกหุ้นกู้สูงสุด ด้วยมูลค่าเกือบ 80,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่ออกใหม่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อที่ระดับ A และกว่า 50% ของหุ้นกู้ที่ออกใหม่เป็นหุ้นกู้ที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี
นอกจากนี้ ภายในเดือนก.ย.-ต.ค. 51 ยังมีบริษัทเอกชนไทยที่มีกำหนดจะออกหุ้นกู้แน่นอน ได้แก่ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ที่จะออกหุ้นกู้ราว 7.5 พันล้านบาท, บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) มีแผนออกหุ้นกู้ราว 2.5 พันล้านบาท และ บล.ภัทร (PHATRA) ที่คาดว่าจะออกราว 1 พันล้านบาท
สำหรับการเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีความผันผวนค่อนข้างมาก ปัญหาเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อว่า ธปท.จะประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดปัญหาภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนในช่วงครึ่งแรกของปีมีการขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง ประกอบกับ ภาวะเงินเฟ้อที่ดูจะผ่อนคลายลงหลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือน ส.ค.นั้น ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งในช่วงเดือน ก.ค.และ ส.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุด ณ วันที่ 12 กันยายน อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 5 ปี เท่ากับ 4.24% ลดลงจากระดับสูงสุดในเดือน มิถุนายน ถึง 149 bp ที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล อายุ 5 ปี เท่ากับ 5.74%
นายณัฐพล กล่าวว่า แนวโน้มในระยะสั้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรคาดว่าจะลดลง เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ลดลง
นอกจากนี้ ในระยะต่อไปยังมีเรื่องการเมืองของไทย ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจถูกปรับลดเครดิตของประเทศ รวมถึงภาคเอกชนอาจออกหุ้นกู้น้อยลง จากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากเครดิตประเทศถูกลดต่ำกว่าอันดับที่น่าลงทุน จะส่งผลให้แนวโน้มในปีหน้าจะมีการออกหุ้นกู้ในประเทศมากขึ้น
ส่วนกรณีปัญหาของเลห์แมน บราเธอส์ นั้นไม่มีผลกระทบทางตรง แต่มีผลทางอ้อมต่อตลาดหุ้นกู้ ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับลดลงไปได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ ในส่วนนักลงทุนต่างชาติมีเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นกู้ประมาณ 1% เท่านั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบมาก
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--