นายพงศ์พันธุ์ อภิญญากุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)และในฐานะกรรมการของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยคงได้รับผลกระทบด้านจิตวิทยาจากเหตุการณ์ล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ ในระยะสั้น และเชื่อว่าดัชนี SET ไม่น่าจะหลุดระดับ 600 จุดแน่นอน
อีกทั้งมองว่าดัชนี SET ในปีนี้น่าจะยืนได้เหนือระดับ 700-750 จุด โดยรับผลจากปัจจัยในประเทศจากประเด็นทางการเมืองที่เชื่อว่าสถานการณ์กำลังคลี่คลายลง โดยสมาคมฯ เห็นว่า หากมีการยุบสภาในอีกไม่นานนี้ก็จะทำให้ดัชนี SET ปรับขึ้นมาได้ที่ 660-670 จุด และหากมีรัฐบาลเฉพาะการที่เป็นกลาง ดัชนี SET ก็น่าจะขึ้นไปถึง 680-700 จุดได้
ส่วนกรณีเกิดรัฐประหาร ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ดัชนี SET ลงมาแถว 610-612 จุด
กรรมการ สมาคมนักวิเคราะห์ฯ กล่าวว่า การล้มละลายของเลห์แมนฯไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากเลห์แมนถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมในบริษัทจดทะเบียน รวมประมาณ 6 พันล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยรวม
ขณะที่สถาบันการเงินของไทยมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯ ประมาณ 9.7 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ก็มีการตั้งสำรองฯไว้เรียบร้อยแล้วในระดับ 80-90% โดยธนาคารกรุงเทพ(BBL) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ถือเป็นแบงก์ที่คาดว่าจะมีการลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมนฯมากที่สุด ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ถือว่าลงทุนน้อยมาก
นายพงษ์พันธ์ กล่าวว่า ผลกระทบอีกด้านหนึ่งคือกรณีของเลห์แมนฯจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในสหรัฐฯ, ยุโรป และญี่ปุ่น แต่จะไม่ส่งผลให้ถึงกับเศรษฐกิจโลกถดถอย เพราะอย่างจีนและอินเดียมีการปรับตัวทันท่วงทีและมีสภาพคล่องในระดับสูง ขณะที่ประเทศไทย เองก็ยังมีโอกาสเติบโตจากภาคการลงทุน โดยอาศัยปัจจัยจากเงินบาทแข็งค่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัว ก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลที่จะลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพราะราคาน้ำมันและเหล็กก็จะมีทิศทางที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ด้านปัจจัยด้านเงินเฟ้อในประเทศไทย มองว่ามีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศก็น่าจะได้เห็นในปี 52 คาดว่าจะปรับลดประมาณ 0.50%
แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ที่จะมีการพิจารณาในการปรับอัตราดอกเบี้ยในคืนวันนี้(16 ก.ย.) คาดว่าเฟดอาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% โดยมีเหตุผลมาจากปัญหาของสถาบันการเงิน แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าควรจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพราะจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/พรเพ็ญ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--