ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (17 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองในด้านลบต่อการที่ธนาคารกลางสหรัฐตัดสินใจเข้าพยุงกิจการบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 449.36 จุด หรือ 4.06% ปิดที่ 10,609.66 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีพ.ศ.2548 ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 57.20 จุด หรือ 4.71% ปิดที่ 1,156.39 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปี 2548 และดัชนี Nasdaq ทรุดลง 109.05 จุด หรือ 4.94% ปิดที่ 2,098.85 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2549
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 2.14 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 15 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 3.11 พันล้านหุ้น
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กผันผวนรุนแรงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับ AIG บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ แลกเปลี่ยนกับการที่เฟดเข้าไปถือหุ้น 79.9% ใน AIG โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่า การขาดสภาพคล่องของ AIG อาจซ้ำเติมตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก อีกทั้งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม ดังนั้น การปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินจะช่วยให้ AIG มีความคล่องตัวทางการเงินจนสามารถดำเนินการตามภาระผูกพันเมื่อถึงเวลากำหนด และจะช่วยให้กระบวนการที่ AIG จะขายธุรกิจบางส่วนเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐตกอยู่ในภาวะชะงักงัน
บิล สโตน นักวิเคราะห์จาก PNC Wealth Management กล่าวว่า "ข่าวดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนอย่างมาก เพราะการที่เฟดให้วงเงินกู้ฉุกเฉินแก่ AIG ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทประกันรายใหญ่แห่งนี้ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และอาจล้มละลายต่อจากเลห์แมน บราเธอร์ส"
รายงานระบุว่า การเข้าอุ้มกิจการ AIG ครั้งนี้ เฟดดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังสหรัฐตามกฏหมาย "Section 13(3) of the Federal Reserve Act" มีเงื่อนไขชำระคืนภายในเวลา 24 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรฐาน Libor ประเภทสามเดือนที่ 8.50% โดยเฟดระบุว่าการตัดสินใจครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะปกป้องผลประโยชน์ทั้งของรัฐบาลสหรัฐและประชาชนผู้เสียภาษี
แม้ตลาดหุ้นนิวยอร์กไม่ขานรับการตัดสินใจของเฟดในครั้งนี้ แต่นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐได้ออกมาแสดงความเห็นเพื่อลดกระแสความตื่นตระหนก ว่า "ผมสนับสนุนการที่เฟดตัดสินใจเข้าพยุงกิจการ AIG เพื่อช่วยให้ AIG สามารถดำเนินการตามภาระผูกพันเมื่อถึงกำหนดเวลา เราต้องยอมรับว่าเป็นเป็นช่วงเวลาที่ตลาดการเงินของเราเผชิญความท้าทายอย่างมาก กระทรวงการคลังจะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับเฟด คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเสถียรภาพและผลักดันให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวอย่างเป็นระเบียบ และลดผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจของเรา"
แจ็ค เอ ดับบลิน นักวิเคราะห์จาก Harris Private Bank กล่าวว่า "นอกเหนือจากข่าวล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และข่าวเฟดอุ้ม AIG นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของ 2 วาณิชธนกิจรายใหญ่อย่างมอร์แกน สแตนลีย์ และโกลด์แมน แซคส์ รวมทั้งข่าวที่เมอร์ริล ลินช์ ขายกิจการให้กับแบงค์ ออฟ อเมริกา"
โกลด์แมน แซคส์เปิดเผยกำไรไตรมาส 3 ร่วงลง 71% เหลือเพียง 810 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.81 ดอลลาร์/หุ้น จากไตรมาส 3 ของปีที่แล้วที่ 2.81 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.13 ดอลลาร์/หุ้น อย่างไรก็ตาม กำไรต่อหุ้นของโกลด์แมน แซคส์ในไตรมาส 3 ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์โพลล์ธอมสัน ไฟแนเชียลคาดว่าจะอยู่ที่ 1.71 ดอลลาร์/หุ้น
มอร์แกน สแตนลีย์รายงานว่า บริษัทมีรายได้ลดลง 3% แตะที่ระดับ 1.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.32 ดอลลาร์ต่อหุ้น ในรอบ 3 เดือนที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ส.ค. จากระดับ 1.47 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.38 ดอลลาร์ต่อหุ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าผลกำไรจะร่วงลงไปอยู่ที่ระดับ 78 เซนต์ต่อหุ้น
ทั้งกลุ่มการเงินดิ่งลงอย่างหนัก โดยหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 14% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 24% และหุ้น AIG ร่วงลง 45%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--