นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)วันนี้ โดยเชื่อว่าปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ กรณีการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ น่าจะส่งผลผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นเท่านั้นที่ทำให้มีเงินไหลออกบ้าง
แต่ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าหนักใจขณะที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังมีความเข้มแข็ง และรัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็คต์ตามแผนงานต่อไป
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าสร้างความหวั่นไหวทางธุรกิจต่อการลงทุนบ้าง เช่นในภาคอสังหาฯ ตลาดหุ้น บริษัทประกัน ซึ่งผูกกับชีวิตประจำวันของประชาชน แต่เหตุการณ์ไม่น่าหนักใจมากนัก"นายสมชาย กล่าวภายหลังการหารือ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นหลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยร่วงหนักจนหลุด 600 จุดในวันนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจิตวิทยา การจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากด้านจิตวิทยายังไม่ได้รับการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยส่วนหนึ่งที่กดดันตลาดหุ้นไทยคือปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่น และมีความกังวลมาโดยตลอด ดังนั้น จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการเมืองให้ประเทศชาติกลับมาสามัคคีและปรองดองกันให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าพื้นฐานตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่ง และบริษัทจดทะเบียนยังมีผลประกอบการที่ดีอยู่
ทั้งนี้จะต้องติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยในทางอ้อม และติดตามสถานการณ์ระยะปานกลางจนถึงระยะยาว โดยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งสามารถรองรับความผันผวนจากภายนอกได้ โดยเฉพาะการเร่งเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็คต์ การสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งการเร่งสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์
"คิดว่าแผนงานที่ทำอยู่มีทีมติดตามสถานการณ์ที่มี รมว.คลังเป็นประธาน และคณะกรรมการประเมินเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉินที่มีปลัดคลังเป็นประธานจะติดตามและสรุปสถานการณ์เป็นรายงานเพื่อเสนอ รมว.คลัง รับทราบ ส่วนแนวคิดจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินั้น เป็นอีกแนวทางเพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ต้องดูกันต่อไปก่อน" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธปท.ได้วิเคราะห์ผลกระทบทั้งกรณีของเลห์แมน บราเธอร์ส, เมอร์ริล ลินช์ และ เอไอจีแล้ว ขอให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินของไทยไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีต่างเหล่านี้ แต่อาจมีผลทำให้ภาครัฐและเอกชนมีต้นทุนการกู้เงินสูงขึ้นบ้าง ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปโดยเฉพาะโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ที่จะใช้แหล่งเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ส่วนแหล่งเงินในประเทศนั้นคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการประเมินเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉินจะติดตามดูผลกระทบในระยะต่อไปทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงเพื่อประเมินสถานการณ์ในปี 52 ว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก และการลงทุนมากน้อยเพียงใด เพื่อเข้าไปดูแลให้เกิดความมั่นใจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังผันผวน
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ยังไม่นิ่ง ต้องติดตามไปตลอด มีการตั้งหน่วยงานของมาติดตามการแก้ปัญหาต่างๆ ในส่วนที่สูงกว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงคลังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ มีรมว.คลังเป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ช่วยดูแลแก้ไขสถานการณ์อยู่ แต่ผลกระทบระยะสั้นขอให้มั่นใจว่าอยู่ในการควบคุมได้ แต่ต้องติดตามผลที่จะตามมาในระยะต่อไป" นายศุภรัตน์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--