ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (18 ก.ย.) หลังจากมีรายงานว่ารัฐฐาลสหรัฐอาจใช้มาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินด้วยการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อจัดการกับหนี้เสียมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลจากภาวะตื่นตระหนกนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้น 410.03 จุด หรือ 3.86% แตะที่ 11,019.69 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 50.12 จุด หรือ 4.33% แตะที่ 1,206.51 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 100.25 จุด หรือ 4.78% แตะที่ 2,199.10 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 2.5 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 3.85 พันล้านหุ้น
สก็อต ฟูลแมน นักวิเคราะห์จาก WJB Capital Group ในกรุงนิวยอร์ก กล่าวว่า "นักลงทุนขานรับรายงานที่ว่า นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐกำลังพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่คล้ายคลึงกับ 'บรรษัททรัสต์เพื่อการกอบกู้กิจการ' เพื่อจัดการกับหนี้เสียและแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านการปล่อยกู้ ทั้งนี้ นักลงทุนคาดหวังว่ามาตรการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลจะสหรัฐจะช่วยให้สถาบันการเงินมีทางออกในการจัดการกับหนี้เสีย และจะยับยั้งตลาดไม่ให้ตกอยู่ในภาวะล่มสลายหลังจากวาณิชธนกิจรายใหญ่ล้มละลาย รวมถึง แบร์ สเติร์นส และเลห์แมน บราเธอร์ส"
เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ธนาคารกลางสวิส และธนาคารกลางแคนาดา ประกาศลงนามในข้อตกลงพื่อลดภาวะสภาพคล่องตึงตัว โดยเฟดได้อนุมัติการขยายวงเงินสว็อปที่ 1.80 แสนล้านดอลลาร์ และภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวนั้น อีซีบี ธนาคารกลางอังกฤษและ ธนาคารกลางสวิส จะระดมเงินทุนในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ในขณะที่บีโอเจและธนาคารกลางแคนาดาตั้งวงเงินสว็อปครั้งใหม่ร่วมกับเฟด เพื่อเสริมสภาพคล่องของดอลลาร์ในตลาดภายในประเทศ
"มาตรการร่วมกันดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะลดแรงกดดันในตลาดเงินกู้สกุลดอลลาร์ระยะสั้น และมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงินโลก ธนาคารกลางจะยังคงร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการรับมือกับแรงกดดันที่ยืดเยื้อ" อีซีบีระบุในแถลงการณ์
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ กำหนดให้เฮดจ์ฟันด์ เปิดเผยสถานะการทำช็อต-เซล เพื่อลดภาวะผันผวนในตลาดหุ้น โดยนายคริสโตเฟอร์ ค็อกซ์ ประธานก.ล.ต.ระบุว่า การดำเนินการของก.ล.ต.มีขึ้นหลังการออกกฎฉุกเฉินในช่วงสั้นๆในฤดูร้อนนี้ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการขายช็อตเซลที่ไม่เหมาะสมในหุ้นการเงินรายใหญ่ 19 หุ้น และภายใต้มาตรการที่จะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ผู้ขายช็อตเซลจะต้องส่งมอบหลักทรัพย์ภายในช่วงปิดทำการของวันชำระบัญชี หรือ 3 วันหลังการขาย
การดำเนินการของก.ล.ต.มีขึ้น หลังจากตลาดการเงินตกอยู่ในภาวะผันผวนเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิงส์ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย และหลังจากเฟดตัดสินใจให้วงเงินกู้ฉุกเฉิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์แก่บริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG)
นักลงทุนจับตาดูความคืบหน้าของมอร์แกน สแตนลีย์ หลังจาก สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า มอร์แกน สแตนลีย์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐกำลังเจรจากับซิติค กรุ๊ปของจีน รวมถึงเอชเอสบีซี โฮลดิ้ง พีแอลซี และธนาคารวาโชเวีย โดยมีแนวโน้มว่าจะขายกิจการให้สถาบันการเงินเหล่านี้
นักวิเคราะห์จาก Renaissance Financial Corp กล่าวว่า "มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่มอร์แกน สแตนลีย์จะตัดสินชะตากรรมของบริษัทด้วยตัวเองมากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตลาด อย่างไรก็ตาม วาโชเวียยังคงมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--