บมจ.เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น(MSC)พับแผนขายหุ้นเพิ่มทุน 119 ล้านหุ้นเก็บใส่กระเป๋าไว้ก่อน หลังมองภาวะโดยรวมไม่เอื้อ แต่คาดว่าจะหยิบยกมาพิจารณาอีกรอบได้ในช่วงไตรมาส 4/51 แตยังเดินหน้าเจรจาพันธมิตรต่างประเทศที่หวังจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจไอที ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้หรือต้นปี 52
ด้านธุรกิจในปีนี้ตัดใจเป้ารายได้ 6 พันล้านบาทไม่น่าจะถึงแน่ หลังเห็นแววลูกค้าหลายรายเลื่อนการลงทุนด้านไปที หวังแค่รักษารายได้และกำไรให้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อน ทั้งปีรายได้ไม่น่าจะต่ำกว่า 5.4 พันล้านบาท โดยหวังว่าไตรมาส 4/51 การเมืองนิ่งเศรษฐกิจขับเคลื่อน ส่งผลให้รายได้ในครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรกที่ทำได้ 2.5-2.6 พันล้านบาท
นายณรงค์ จารุวจนะ กรรมการบริหาร MSC กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องเพิ่มทุนขายให้พันธมิตรจำนวน 119 ล้านหุ้น ตอนนี้เงียบไป เนื่องจากภาวะแวดล้อมเป็นเช่นนี้ทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะลงทุน คงต้องรอดูการเมืองให้เรียบร้อยและในไตรมาส 4/51 คงนำมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะจัดสรรอย่างไร
"หุ้นเพิ่มทุน 119 ล้านหุ้น เราเปิดไว้สำหรับใครที่จะเป็นพันธมิตรเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา แต่ไม่รีบร้อน เพราะโครงการที่เราตั้งใจจะเพิ่มทุนเพื่อมาลงทุนต่างๆ ดูแล้วเราชะลอได้ก็สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศก็ชะลอ ๆ เพราะตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจก็ไปกระทบจากการเมือง มันไม่นิ่ง"นายณรงค์ กล่าว
นายณรงค์ กล่าวว่า ส่วนการเจรจากับพาร์ทเนอร์ในวงการไอที 2 รายจากต่างประเทศก็ยังเดินหน้าไป และคาดว่าประมาณปลายๆปีนี้ต่อต้นปีหน้าคงได้ข้อสรุป รอเพียงจัดรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยก็เดือนต.ค-พ.ย.ก็น่าจะลงตัว เพราะพันธมิตรเกรงว่าจะมีความวุ่นวาวาย ทำให้เราต้องชะลอไปนิดหนึ่ง
"พันธมิตรมองข้อได้เปรียบเรื่องการขยายธุรกิจเป็นหลัก แต่คิดว่าจะขายหุ้นได้แน่ เพราะถ้าพาร์ทเนอร์อยู่ในวงการด้วยกันจำนวนหุ้นตรงนี้ไม่ได้เยอะมาก จึงคิดว่าน่าจะเป็นไปได้"นายณรงค์ กล่าว
*ปีนี้เน้นรักษายอดขาย-กำไรให้ใกล้เคียงปีก่อน เห็นสัญญาณลูกค้าเลื่อนลงทุน
นายณรงค์ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเป้าหมายทางธุรกิจในปีนี้มาเป็นการรักษารายได้และกำไรให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีก่อน หลังจากได้รับผลกระทบด้านการเมืองและเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ลูกค้าบางรายชะลอการลงทุน หรือเลื่อนเวลาออกไปเป็นไตรมาส 4/51 หรือต้นปีหน้า โดยอ้างว่ารอเหตุการณ์การเมืองให้เรียบร้อยก่อน
เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 6 พันล้านบาท แต่ขณะนี้คาดว่ารายได้รวมปีนี้จะทำได้ราว 5,400-5,500 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 5,000 ล้านบาท ส่วนกำไสุทธิปีนี้พอๆกับปีที่แล้วที่ 156 ล้านบาท แต่ยังต้องติดตามปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งบริษัทพยายามควบคุมไม่ให้สูงเกิน 5%
"ไม่ถือว่าต่ำกว่าเป้าเดิมมาก เพราะส่วนหนึ่งเมื่อรู้ว่าภาวะเป็นเช่นนี้เราก็พยายามที่จะดูแลในเรื่องอื่น เช่น เรื่องสภาพคล่อง ฐานะทางการเงิน ความสามารถในการทำกำไร บริหารเงินทุนหมุนเวียนให้คงที่แล้วรอเหตุการณ์ค่อยเน้นเรื่องการทำเป้ารายได้ใหม่" นายณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าสถานการณ์รอบด้านน่าจะดีขึ้นในไตรมาส 4/51 ซึ่งจะทำให้ยอดขายในครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรกเล็กน้อย ซึ่งในช่วงครี่งปีหลังจะมีประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกระทบเป็นโดมิโน โดยครึ่งปีแรกบริษัทมียออดขายประมาณ 2,500-2,600 ล้านบาท
"ลูกค้าชะลอมีบ้างแต่ก็ยังอยู่ในลิสที่ยังต้องการที่จะซื้ออยู่เพียงแต่รอดู เราก็ต้องพยายามที่จะขยันหน่อยและ export มากขึ้นเพื่อรักษาตรงนี้แต่ตัวเลขโดยถัวเฉลี่ยยังรับได้กับสถานการณ์ตรงนี้ เรื่องเงินบาทไม่มีปัญหาเพราะเราขายในประเทศเป็นหลัก"นายณรงค์ กล่าว
บริษัทเองก้ได้ปรัลกลยุทธทางการตลาด โดยนำเสนองานด้านไอทีกับลูกค้าแบบเทิร์นคีย์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และ เซอร์วิสรวมกัน และอาจจะมีลักษณะเป็นการให้ค่าบริการรายเดือน เพราะสินค้าจะไปใกล้เคียงกับคนใช้ส่วนบุคคลมากขึ้น โดยอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีที่สุดจะเป็นซอฟท์แวร์ เซอร์วิส รองลงมาเป็นพวกฮาร์ดแวร์
"ถัวเฉลี่ยอัตรากำไรขั้นต้นก็ยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเราพยายามรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้เฉลี่ยประมาณ 15-16% ปีนี้ก็เหมือนเดิมคิดว่ายังทำได้"นายณรงค์ กล่าว
*ไม่มีแผนซื้อหุ้นคืน เตรียมเงินไว้ลงทุนใน 6 เดือนข้างหน้า
นายณรงค์ กล่าวว่า MSC ยังไม่มีแผนซื้อหุ้นคืนในระยะนี้แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับลดลงมามากจากภาวะตลาดโดยรวม เนื่องจากบริษัทต้องการสำรองเงินทุนไว้ใช้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่นโยบายจ่ายปันผลยังยืนยันที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทปฏิบัติมาตลอด หากมีสภาพคล่องมากพอก็น่าจะจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่จ่ายในอัตรา 0.24-0.25 บาท/หุ้น
สำหรับในปีหน้า บริษัทยังมองว่าธุรกิจไอทียังน่าจะเติบโตได้อีก เพราะหากเศรษฐกิจปีขึ้นคนก็จะใช้เงินกับไอทีมากขึ้น โดยอย่างแรกที่จะซื้อคือ โทรศัพท์มือถือ จึงมองว่าไอทีก็อยู่ในลำดับต้นๆ ของผู้บริโภคและเป็นสิ่งที่สังคมหรือตลาดจะปฏิเสธความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไม่ได้
บริษัทยังเน้นตลาดที่เป็นองค์กรทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งการใช้จ่ายจะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งข้อได้เปรียบของเราคือมีฐานลูกค้ากว้าง 5,000-6,000 รายก็กระจายความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง ลูกค้าหลักเป็นเอกชน สถาบันการเงิน อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วน เป็นต้น เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--