ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (22 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจว่ามาตรการกอบกู้วิกฤติการด้านการเงินที่รัฐบาลสหรัฐใช้งบประมาณสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในการซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินภายในประเทศนั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด ในขณะเดียวกันนักลงทุนได้ย้ายฐานการลงทุนออกจากตลาดหุ้นและหันเข้าซื้อสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยกว่า อาทิ สัญญาน้ำมันดิบและทองคำ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 372.75 จุด หรือ 3.27% ปิดที่ 11,015.69 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 47.99 จุด หรือ 3.82% แตะที่ 1,207.09 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดร่วง 94.92 จุด หรือ 4.17% แตะที่ 2,178.98 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.27 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 1.93 พันล้านหุ้น
ร็อบ ลัทท์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Cabot Money Management Inc. กล่าวว่า "นักลงทุนไม่มั่นใจว่ามาตรการมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะใช้ในการช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหานั้น จะสามารถพยุงเศรษฐกิจและกระตุ้นตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ด้วยท่าทีดังกล่าวทำให้นักลงทุนย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นและหันเข้าซื้อสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกน้ำมันดิบและทองคำ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง"
ภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินนับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ส่งผลให้ทางการสหรัฐเร่งหาทางออกในหลายๆด้าน จนกระทั่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศแผนกู้วิกฤติการเงินด้วยการทุ่มงบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินและเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด ซึ่งบุชระบุว่าเป็นมาตรการครั้งใหญ่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
อย่างไรก็ตาม คริสโตเฟอร์ วูด นักยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนจากบริษัท CLSA ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักวิเคราะห์ระดับแนวหน้าของเอเชียจากการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนสถาบัน คาดว่า การที่ตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้นขานรับมาตรการกู้วิกฤติในตลาดการเงินของสหรัฐมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์นั้น จะเป็นการดีดตัวขึ้นในระยะสั้นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง
นับตั้งแต่ช่วงต้นปีพ.ศ.2549 สถาบันการเงินทั่วโลกรายงานตัวเลขขาดทุนในตลาดสินเชื่อและปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี โดยรวมประมาณ 5.20 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ โดยคริสโตเฟอร์ วูดคาดว่า ยอดขาดทุนของสถาบันการเงินทั่วโลกจะพุ่งขึ้นอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์
ราคาน้ำมันดิบตลาด NYMEX พุ่งขึ้น 16.37 ดอลลาร์ แตะที่ 120.92 ดอลลาร์/บาร์เรล และในระหว่างวันราคาทะยานขึ้น 25.45 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาทองคำตลาดนิวยอร์กทะยานขึ้น 40.30 ดอลลาร์ แตะที่ 909 ดอลลาร์/ออนซ์
คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อนุมัติคำร้องของโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ สองวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่แห่งสุดท้ายในตลาดวอลล์สตรีท ที่ต้องการเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นธุรกิจประเภท "บริษัทโฮลดิ้งธนาคาร"
เฟดระบุว่า การเปลี่ยนสถานะของโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะช่วยให้สถาบันการเงินทั้งสองแห่งสามารถจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่สามารถรับฝากเงินออม และจะช่วยกระตุ้นแหล่งรายได้ของสถาบันการเงินทั้งสองด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีทนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินครั้งใหญ่ในสหรัฐ
นักลงทุนจับตาดูนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ และนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะแถลงสถานการณ์เศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสในวันอังคารและวันพุธนี้ อีกทั้งจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงยอดขายบ้านมือสองเดือนส.ค.ที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติจะเปิดเผยในวันพุธ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค.ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีและตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขั้นสุดท้ายประจำไตรมาส 2 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์
หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ ร่วงลง 12 เซนต์ ปิดที่ 27.09 ดอลลาร์ และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 7% หลังจากวาณิชธนกิจทั้งสองแห่งประกาศเปลี่ยนแปลงสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งธนาคาร ส่วนหุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 13% หุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ดิ่งลง 7.7%
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--