บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) เตรียมนำรูปแบบการผลิตและกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกรของบริษัท กรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ขยายธุรกิจไปยังประเทศจีนและรัสเซียที่เป็นตลาดใหญ่แนวโน้มการเติบโตสูง ขณะเดียวกัน สินค้าหมูสด แบรนด์ ซีพี ดันเข้าตลาดโมเดิร์นเทรดมากขึ้น ล่าสุดดึงกทม.ร่วมมือ ส่งหมูสดให้โรงเรียนสังกัดกทม.กว่า 400 แห่งทำอาหารกลางวัน
"ทาง CPF จะสร้างเป็นคอมเพล็กซ์ จะทำตั้งแต่โรงเชือด จนถึงกระบวนการแปรรูป และเลี้ยงหมูเอง ทั้งสองตลาดที่รัสเซียและจีน เป็นตลาดใหญ่ แต่ยังไม่รู้กำหนดการแน่นอนว่าเขาจะสร้างเมื่อไร"นายนารายณ์ ฉิมมิ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านธุรกิจโรงงานแปรรูปสุกร บริษัท กรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าว
ปัจจุบันไทยไม่สามารถส่งออกเนื้อสุกรไปประเทศต่าง ๆ ได้ ยกเว้นฮ่องกง ทำให้ต้องเข้าไปทำตลาดแต่ละประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งในจีนนั้นทาง CPF มีพื้นที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูหลายแห่งหลังจากที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนนาน 10 ปี ได้แก่ หูเปย ฟูหนาน เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่เหล่านี้หายากเพราะจะต้องห่างจากชุมชน ขณะที่ในรัสเซียยังอยู่ระหว่างการสร้างโรงงานอาหารสัตว์บกและฟาร์มเลี้ยงสุกรจะเริ่มเปิดดำเนินการปลายปีนี้
นายนารายณ์ กล่าวว่า โรงงานของบริษัท กรุงเทพผลิตภัณฑ์อาหาร ถือเป็นต้นแบบโรงงานแปรรูปเนื้อสุกร ซึ่งจะรับจากฟาร์มของซีพีเอง 90% และจากฟาร์มอื่น10% ที่ต้องผ่านการรับรองจากสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ ก่อนนำสุกรส่งไปโรงชำแหละมาตรฐาน หลังจากนั้นนำเข้ามายังโรงงานแปรรูปเพื่อลดอุณหภูมิเนื้อสุกรให้เย็นลงที่ 4 องศาเซสเซียส จากนั้นจึงตัดแต่งชิ้นส่วนภายในห้องควบคุมความเย็นตลอดเวลา โดยเนื้อสุกรจะไม่สัมผัสพื้นและมือโดยตรง
แม้ว่าจะเปิดดำเนินการมา 5 ปีแล้ว แต่โรงงานยังไม่มีกำไร เนื่องจากการผลิตมีต้นทุนสูง และมีการลงทุนและพัฒนาสินค้าตลอด แต่คาดว่าในปี 53 จะถึงจุดคุ้มทุน หรือเริ่มมีกำไร โดยคาดว่าจะผลิตเต็มกำลังการผลิตที่ 1,800 ตัว/วัน และคาดว่าจะยอดขายจะเพิ่มเป็น 4 พันล้านบาท จากปี 50 ที่มียอดขาย 2.7 พันล้านบาท และมีกำลังการผลิตที่ 1,300 ตัว/วัน และปี 51 ยอดขายคาดว่าจะเพิ่มเป็นน 3 พันล้านบาท กำลังการผลิต 1,450 ตัว/วัน
ส่วนปี 52 คาดว่าจะมียอดขายโตเป็น 3.5 พันล้านบาท จากกำลังการผลิต 1,600 ตัว/วัน โดย ซีพี มีส่วนแบ่งตลาดเนื้อสุกร 25% ของตลาดรวม หรือเป็นผู้ค้าสุกรอันดับหนึ่ง
นายนารายณ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทส่งออกไปที่ฮ่องกง แห่งเดียว สัดส่วน 15% ของกำลังการผลิต, 50% ส่งให้บริษัทในเครือนำไปผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น เช่น ไส้กรอก และที่เหลือ 35% จำหน่ายในประเทศ ทั้งการขายในโมเดิริ์นเทรด ได้แก่ ท็อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, คาร์ฟูร์ เป็นต้น รวมถึง ตามร้านอาหารที่สั่งพิเศษ เช่น เอ็มเคสุกี้ โออิชิ เป็นต้น และตามตลาดสด
บริษัทพยายามผลักดันขายสินค้าเนื้อสุกร ภายใต้แบรนด์ซีพี ตามโมเดิร์นเทรดทั่วไป และ ตามคำสั่งซื้อของร้านอาหาร รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสำเร็จรูป ได้แก่ ขาหมูพะโล้ ซึ่โครงหมูตุ๋นเยื่อไผ่ เป็นต้น โดยบริษัทได้ขายเนื้อสุกรภายใต้แบรนด์ซีพีมา 5 ปีแล้ว โดย มีสัดส่วน 10% ของกำลังการผลิต ซึ่งขายได้ราคาสูงกว่าตลาดสด 20-30%
"ธุรกิจหมู เป็นเทางเดินที่เหนื่อยมาก เราเอาแบรนด์เข้าไป เราสู้ด้วยแบรนด์ สู้ด้วยราคา เชื่อว่าแนวโน้มผู้บริโภคจะหันมาใส่ใจสุขอนามัย ซึ่งไม่ใช่ซีพีรายเดียวทำ ก็มีหลายรายทำเหมือนกัน" นายนารายณ์ กล่าว
ล่าสุด บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับทางกทม. หลังจากเจ้าหน้าที่กทม.ได้มาเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งจะมีการร่วมกันออกแบรนด์ เพื่อนำส่งให้กับโรงเรียนในสังกัดกทม.จำนวนกว่า 400 แห่ง เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารกลางวัน รวมถึงเจรจาจำนวนที่จะสั่งซื้อ โดยจะเริ่มส่งเนื้อสุกรได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีนี้ หรือประมาณเดือน พ.ย.นี้
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--