นายก้องเกียรติ โอภาสวงกาส ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเชียพลัส (ASP)มองว่า นักลงทุนต่างชาติมีการขายออกจากจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมูลค่ารวม 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1 แสนล้านบาท ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะสถาบันการเงินต่างต้องการลดความเสี่ยงโดยการถือเงินสดมากกว่า
แต่การเทขายหุ้นจากตลาดหุ้นไทยนั้นยังน้อยกว่าการเทขายหุ้นในตลาดหุ้นเกาหลีถึง 10 เท่า และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังน้อยกว่า 20 เท่า ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาจากนักลงทุนต่างชาติหลังสถานการณ์ต่างๆนิ่ง และอาจเม็ดเงินไหลกลับช่วงไตรมาส 1/52
“ทุกวันนี้คนกลัวกันหมดแม้ราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยต่ำลงมามากบางตัวต่ำกว่าบุ๊ค พี/อีต่ำ จ่ายปันผลสูง ทุกคนรู้แต่กลัวจึงถือเงินสดกันไว้ก่อนแต่เชื่อว่ายังไงโอกาสยังมีแต่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการลงทุน"นายก้องเกียรติ กล่าวในการสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจ & ตลาดหุ้นไทยกับวิกฤติการเงินสหรัฐ"
นายก้องเกียรติ กล่าวว่า การที่ทางการสหรัฐอุดหนุนสภาพคล่องจำนวน 7 แสนล้านเหรียญ ถือว่าเหมาะสมและจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องได้ต่อเนื่องเพียงพอที่จะแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาวิกฤติการเงินของสหรัฐจะสามารถคลี่คลายไปได้ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยเหตุการณ์ต่างๆ น่าจะจบในไตรมาส 1/52 เพราะกว่าที่การประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงต้องใช้เวลา รวมถึงผลกระทบตามมาคือความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา
"ความสูญเสียจากวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา รวม 1.5 ล้านล้านเหรียญ ขณะนี้ประเมินความสูญเสียไปแล้ว 5 แสนล้านเหรียญ ถือว่าประเมินความสูญเสียไปแล้ว 1 ใน 3 เหลือความสูญเสียที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญที่จะต้องประเมินต่อไป"นายก้องเกียรติ กล่าว
ด้านสถานการณ์ในประเทศ คาดว่าสถาบันการเงินควรต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่จากสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่างเพิ่มสภาพคล่อง โดยเร่งระดมเงินฝากจากประชาชนเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อในอนาคต ส่วนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่เชื่อว่านโยบายยังคงเดิม เพียงแต่ต้องการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนและผู้บริโภค
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถาบันการเงินในประเทศไทยมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพน้อยมาก จึงไม่น่าจะมีผลกระทบมากนัก เพราะสถาบันการเงินไทยยังคงเร่งการระดมสภาพคล่องเพื่อปล่อยสินเชื่อ โดยเน้นการปล่อยสินเชื่อในประเทศ
ในปีนี้อัตราการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาโตเฉลี่ย 10% ส่วนหนี้สงสัยจะสูญ(NPL) จะลดลงจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 6.4% แต่ต้องประเมินสถานการณ์โดยรวมตั้งแต่ครึ่งปีหลังจนถึงต้นปี 2552 เพราะสถานการณ์ช่วงนี้คาดว่ายังคงผันผวนทั้งด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนของต่างชาติ ซี่งต้องการถือเงินสดเพื่อความปลอดภัย
รวมทั้งปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินอาจกระทบถึงการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้านการส่งออกที่อาจชะลอตัวตั้งแต่ครึ่งปีหลัง จากการลดการบริโภคของสหรัฐที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย
ดังนั้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นควรมีการลงทุนภาครัฐที่เกิดขึ้นจริงเพื่อดึงความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งสร้างมั่นใจในการใช้จ่ายของภาคประชาชน เพื่อให้มีบทบาทช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการส่งออก
“เงินทุนไหลเข้าไหลออกเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป แต่ฐานะการคลังของไทยได้เปรียบภาครัฐจึงควรป็นผู้นำในการลงทุนขยายการใช้จ่าย ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวส่งผลมาก จะส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงความกดดันเรื่องเงินเฟ้อน่าจะลดลงด้วยซึ่งการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยก็ต้องพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้"นายบัณฑิต กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--