ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ DTAC เป็น ‘BBB-’/‘A+(tha)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 30, 2008 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซสคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เป็น ‘BBB-’ (BBB ลบ) จาก ‘BB+’  อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) เป็น ‘A+(tha)’ จาก ‘A(tha)’  และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันของ DTAC เป็น ‘A+(tha)’ จาก ‘A(tha)’ ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) ที่ ‘F1(tha)’ แนวโน้มเครดิตของบริษัทมีเสถียรภาพ
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับบริษัทแม่ เทเลนอร์ จากนอร์เวย์ (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘BBB+’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในระดับปานกลางตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)
DTAC มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (EBITDAR) เท่ากับ 1.16 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ โดยเป็นผลจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น (1.7 ล้านราย) และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้หน่วยงานรัฐที่ลดลงจากการประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการใช้และเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Framework)
นอกจากนี้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (EBITDAR margin) ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 จาก 30.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (adjusted net debt to EBITDAR) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.1 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสองของปี 2551 จาก 1.7 เท่า ณ สิ้นปี 2550 และ 2.4 เท่า ณ สิ้นปี 2549 การลงทุนของเทเลนอร์ใน DTAC ถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของเทเลนอร์ในแถบเอเชีย โดยปัจจุบันกลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้น DTAC ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ 65.5% และหากไม่นับรวมกิจการของเทเลนอร์ในประเทศนอร์เวย์ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ของ DTAC อยู่ในอันดับที่ 3 ของกลุ่มเทเลนอร์ในปี 2550 (คิดเป็น 9.3% ของกลุ่ม) เทเลนอร์ยังมีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC โดยเทเลนอร์เป็นผู้แต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงินและบัญชี (Chief Financial Officer)
นอกจากนี้นโยบายในการสนับสนุนของเทเลนอร์ต่อบริษัทลูกจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป และอยู่บนพื้นฐานของการไม่มีการไล่เบี้ยตามกฎหมาย (non-recourse) ไปสู่เทเลนอร์
อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ได้พิจารณาถึงความเกี่ยวเนื่องทางด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากเทเลนอร์ต่อ DTAC อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตของ DTAC เอง
อันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา DTAC ได้ลงทุนขยายโครงข่ายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น ในขณะที่สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้ถึงแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม นอกจากนี้การประกาศใช้ Interconnection Framework โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NTC) ในปี 2549 ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของ DTAC ดีขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้หน่วยงานรัฐลดลง
อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของ DTAC ได้พิจารณารวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงในการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทไปยังต่างจังหวัดเพื่อรองรับความต้องการในการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น และแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปสู่ระบบ 3G (Third generation of mobile phone) ซึ่งอาจทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (net adjusted debt to EBITDAR) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนการลงทุนในโครงข่ายระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 850MHz ซึ่งเป็นความคลื่นความถี่ที่บริษัทมีอยู่ ในปี 2551
นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะลงทุนให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz หากบริษัทได้รับการจัดสรรใบอนุญาตในปี 2552 โดยการลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยการชำระค่าใบอนุญาตของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G จำนวนประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการลงทุนเพื่อก่อสร้างโครงข่ายในช่วงปี 2552-2553 ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของบริษัทประกอบด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และความไม่แน่นอนทางด้านกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพของ DTAC สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของผลประกอบการ และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน ถึงแม้บริษัทจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันการปรับตัวดีขึ้นของผลประกอบการ การลดลงของหนี้สินสุทธิและอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งได้แก่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (net adjusted debt to EBITDAR) อย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิต ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบ ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ในเชิงที่ลดความแข็งแกร่งลง และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ