(เพิ่มเติม) เครือซี.พี.ยันไม่ได้รับผลกระทบวิกฤติสหรัฐฯ แต่มองศก.ไทยชะลอตาม 1-2 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 30, 2008 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะทำงานสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า วิกฤติการเงินของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คงไม่ส่งผลกระทบกับเครือฯ เนื่องจากเครือฯ ยังคงแผนการลงทุนเดิม คือ ในแถบอาเซียน จีน และ อินเดีย
ขณะที่แผนการระดมทุนของบริษัทในเคือ อย่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ยังคงเดินหน้าตามแผน ไม่ได้ชะลอ แต่จะระดมทุนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
นายอาชว์ กล่าวว่า ตามที่สภาคองเกรสไม่เห็นชอบแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก และตลาดหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรง แต่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐจะผลักดันแผนดังกล่าวออกมา เพื่อพยุงเศรษฐกิจของสหรัฐเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤติทางการเงินของสหรัฐและต่อเนื่องไปยังยุโรปและญี่ปุ่น เพราะประเทศไทยมีการส่งออกไปสหรัฐถึง 20% โดยเฉพาะปี 52 เชื่อว่าภาคการส่งออกจะไม่สดใส กลุ่มที่มีความเสี่ยงคือ อัญมณีและสินค้าฟุ่มเฟือย
โดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลไทยควรเข้ามาแก้ปัญหาโดยให้การอุดหนุนธุรกิจ SME และสนับสนุนสภาพคล่องให้กับประชาชน ซึ่ง ประเด็นหลักที่จะเสนอ คือ ขอให้รัฐบาลคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ, เร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็คต์อย่างจริงจังและชัดเจน, เร่งสร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง
"เศรษฐกิจของไทยคงจะชะลอตามเศรษฐกิจสหรัฐอีก 1-2 ปี ปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตไม่ถึง 1% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ CPF เองยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่จะไม่ชะลอแผนการลงทุน โดยจะยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารไปยังประเทศรัสเซีย อินเดีย จีน และกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจของสหรัฐ และเชื่อว่ารายได้ของบริษัทจะเพียงพอต่อการลงทุน"นายอาชว์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังคงแผนการออกหุ้นกู้ และตราสารทางการเงินอื่นๆ ทั้งของบริษัท และบริษีทในเครืออย่าง TRUE ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็จะระดมเงินเท่าที่จำเป็น และระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในภายหลัง และยังมีคณะกรรมการด้านการเงินให้คำปรึกษาและดูแล จึงเชื่อมั่นว่ากลุ่มจะไม่ได้รับกระทบ
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินตนะกุล รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรมและอาหาร เขตประเทศไทย เครือซีพี คาดว่าผลกระทบจากสหรัฐจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยปรับตัวลดลงในระยะ 6-12 เดือน ประมาณ 10% หรือลดลงประมาณ 1.4 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย 60% คือ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น
และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังปี 52 เป็นอันให้เศรษฐกิจชะลอตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปี 52 จะขยายตัวได้ 4.5% จากปี 51 ที่จะขยายตัว 5% โดยผลกระทบหลักมาจากภาคส่งออก ดังนั้น รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเร่งการใช้จ่ายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน
"จากการที่เศรษฐกิจหดตัว ซีพีก็ต้องปรับตัวโดยการลดต้นทุนการผลิตให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจและยอมรับว่าปี 52 คงเป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับภาคการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม แต่เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจอาหารจะได้รับผลกระทบหลังสุด เพราะเป็นสินค้าจำเป็น"นายพรศิลป์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ