บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์(ประเทศไทย)(CCET)เชื่อวิกฤติสหรัฐที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ส่งผลกระทบยอดขายของบริษัทในปี 51 ที่มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าที่ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปีก่อนอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้บริษัทมีคำสั่งซื้อไปจนถึงสิ้นปีแล้ว
แต่สำหรับปี 52 นั้น ขณะนี้บริษัทเริ่มประเมินสถานการณ์และติดตามเหตการณ์ต่อเนื่อง รวมถึงคำสั่งซื้อของลูกค้า เพื่อดูว่าจะมีผลทำให้ออร์เดอร์ลูกค้าลดลงหรือไม่ โดยลูกค้าบางส่วนก็จะนำสินค้าของบริษัทนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งเข้าไปสหรัฐ ขณะที่บริษัทส่งออกโดยตรงในสัดส่วน 20% ไปยังตลาดสหรัฐ
"ปีหน้าก็เป็นปีที่ challenge อีกปีหนึ่ง เราเคยเจอปัญหาหลายอย่างมาก็ผ่านไปได้ ตั้งแต่ต้นปีเราก็เจอเรื่องซับไพร์ม ไปถึงเรื่องของเลห์แมนฯ แต่ปีนี้ยอดขายเรายังโตเพิ่มอีก 700 ล้านเหรียญฯ และคิดว่าไตรมาส 4 ยอดขายค่อนข้างเป็นไปตามที่คาดไว้"นางนฤริน ตันติสัจธรรม รองผู้อำนวยการ สำนักงานกรุงเทพ CCET กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ขณะเดียวกันบริษัทพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลกำไรสุทธิ จึงค่อนข้างตอบยากในขณะนี้สำหรับคาดการณ์ผลประกอบการในปีหน้า เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าไม่ดี ผลกระทบก็ย่อมมีผลกระทบบ้าง แต่จะกระทบมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยูกับศักยภาพของบริษัท และการตลาดทำได้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ ในช่วง พ.ย.บริษัทจะเห็นออเดอร์ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์ธุรกิจได้จากยอดคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยขณะนี้ได้เริ่มคุยแล้วกับลูกค้าบางราย ขึ้นแต่ละโมเดลหรือแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ประมาณการปีหน้าต้องรอต้นปีจึงจะประกาศได้ เพราะต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึง เรื่องการเมืองที่ย่อมส่งผลกระทต่อการส่งออก รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นด้วย ซึ่งราคาหุ้นบริษัทได้ปรับตัวลงต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม บริษัทพยายามขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพื่อไม่ให้ต้องพึ่งพิงกับลูกค้ารายใดรายหนึ่ง โดยสัดส่วนตลาดแต่ละแห่งในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีตลาดเอเชียเป็นหลักในสัดส่วนกว่า 50% ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ ซึ่งส่วนนี้ลูกค้าส่งไปสหรัฐต่อ ขณะที่ตลาดสหรัฐที่มองว่าจะไม่ดี มีสัดส่วน 20% ส่วนยุโรปยังมองว่าเป็นตลาดที่ดี มีสัดส่วนส่งออก 20%
"ถ้าบริษัทพี่งพิงลูกค้ารายเดิมโดยไม่ขยายสินค้าขยายลูกค้าอาจมีผลกระทบ เราก็ต้องหาสินค้ามาเพิ่มเติมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัท ไม่ได้บอกว่าไม่กระทบ"นางนฤริน กล่าว
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ถือหุ้น กลุ่ม KINPO จากไต้หวัน ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลัก รวมกันประมาณ 52% ฉะนั้น การที่บริษัทมีกองทุนต่างชาติหลายแห่งเข้ามาถือแต่ะละรายก็มีจำนวนไม่มาก หากมีการถอนหุ้นไปก็เชื่อว่าจะมีผลกระทบมากนัก
"คนที่มีปัญหาและมาถือหุ้นบริษัท ก็ไม่ได้อยู่ใน Top 10 แต่ตอนนี้ การขายนักลงทุนต่างชาติก็มีมาก แต่ Top 10 ก็ยังอยู่ในกลุ่มของ Major Shareholder ส่วน Fund ก็เข้ามาถือก้ไม่ได้ถือมาก"นางนฤริน กล่าว
ณ วันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 29 ส.ค.51 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้แก่ กลุ่ม KINPO ได้แก่ KINGPO ELECTEONIC.INC 39.67%, CHADE Nominees 7.09% Kingbolt International(Singapore) 6.17% ส่วนพันธมิตรบริษัทคือ FAR EASTERN INTERNATIONAL BANK 19.48% ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นไต้หวัน
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--