ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 348.22 จุด หลังตัวเลขว่างงานสหรัฐพุ่งแรงสุดในรอบ 7 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 3, 2008 06:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (2 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาในภาคการเงิน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขว่างงานสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี และยอดสั่งซื้อของโรงงานอุตสาหกรรมที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่า แผนฟื้นฟูภาคการเงินซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวุฒิสภาสหรัฐนั้น อาจไม่สามารถสกัดกั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 348.22 จุด หรือ 3.22% แตะที่ 10,482.85 จุด ขณะที่ดัชนี &P 500 ปิดลบ 46.78 จุด หรือ 4.03% แตะที่ 1,114.28 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดร่วง 92.68 จุด หรือ 4.48% แตะที่ 1,976.72 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.51 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกราว 5 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.21 พันล้านหุ้น
ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวนเนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากเทขายหุ้นและบางกลุ่มได้ปลีกตัวออกไปดูความเคลื่อนไหวอยู่นอกตลาด หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ขอเข้ารับสวัสดิการในระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 27 ก.ย.อยู่ที่ 497,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ 475,000 ราย
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนส.ค.ในสหรัฐร่วงลงเกินคาด 4% ซึ่งเป็นการหดตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีพ.ศ.2549 และดิ่งลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 2.5%
ซูโบห์ คูมาร์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Subodh Kumar & Associates กล่าวว่า "นักลงทุนเทขายหุ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตัวเลขว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า ตัวเลขว่างงานนอกภาคการเกษตรจะร่วงลงหนักสุดเป็นประวัติการณ์"
นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) ประจำเดือนก.ย.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในคืนวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขจ้างงานจะร่วงลงอีก 105,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นการร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่ส่งผลกระทบไปเกือบทุกภาคส่วนของสหรัฐ
"นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูผลการลงมติแผนฟื้นฟูภาคการเงินในการประชุมรอบสองของสภาคองเกรสในวันศุกร์ ซึ่งนักลงทุนกังวลในเรื่องนี้มากเนื่องจากสภาคองเกรสได้ปฏิเสธแผนฟื้นฟูในการประชุมรอบแรกไปแล้ว" คูมาร์กล่าว
วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 25 ให้อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเช้าวานนี้ตามเวลาประเทศไทย หลังจากสภาคองเกรสไม่ผ่านแผนการดังกล่าวไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยแผนฟื้นฟูภาคการเงินฉบับนี้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มค้ำประกันวงเงินฝากธนาคารที่ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) จากเดิมที่ 100,000 ดอลลาร์ เป็น 250,000 ดอลลาร์ อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งการเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะดึงดูดคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาคองเกรสในการประชุมวันศุกร์นี้
เฟรเดริค ดิคสัน นักวิเคราะห์จากบริษัท D.A. Davidson & Co. กล่าวว่า "สภาคองเกรสจะดึงเรื่องนี้ไปทบทวนอีกครั้งและจะลงมติอีกรอบในวันศุกร์ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติหรือไม่เนื่องจากสภาได้ปฏิเสธแผนดังกล่าวในการประชุมรอบแรกเมื่อวันจันทร์"
นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้น เมื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์แสดงความเห็นผ่านรายการโทรทัศน์ PBS ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ "ตกต่ำจนติดฟลอร์" เนื่องจากบริษัทจำนวนมากประสบความยากลำบากในการระดมทุนและอัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งกล่าวว่า การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส และวอชิงตัน มูชวล รวมถึงการที่เมอร์ริล ลินช์ ขายกิจการให้แบงค์ ออฟ อเมริกา และธนาคารวาโชเวียขายกิจการให้เจพีมอร์แกน ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดเงินและตลาดทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ