นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินชี้ทางออกประเทศไทยปี 52 ต้องอาศัยปัจจัยจากการลงทุนของภาครัฐกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังเกิดวิกฤติจากสหรัฐ รวมถึงปัญหาการเมืองที่กระทบต่อภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย โดยมองว่าวิกฤติสหรัฐยังไม่รู้ว่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดเมื่อใด และอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวได้
นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา หัวข้อ "ลงทุน
อย่างไร? ... เมื่อเศรษฐกิจโลกทรุด"ว่า ประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัวหลังเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐและลุกลามมายังยุโรป โดยรัฐบาลควรเร่งให้เกิดเมกะโปรเจ็คต์ กรอบการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 1.5-1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเห็นการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีม่วงโครงการแรกต้นปี 52
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยกดดันในเรื่องของการเมือง โดยเฉพาะหากมีการยุบสภา อาจทำให้ประเทศมีช่องว่างและ การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง เพราะปีหน้าปัจจัยที่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ต้องอาศัยการลงทุนของรัฐบาล เพราะภาคการส่งอออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัว โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/51 โดยคาดว่าตัวเลขท่องเที่ยวจะลดลงจาก 1.6 แสนล้านบาท อาจจะลดลง 30-50% และตัวเลขการส่งออกเริ่มเห็นทิศทางการเติบโตที่ปรับลดลง ดังนั้นภาคการส่งออกควรปรับตัวโดยหันมาเน้นส่งออกในประเทศแถบเอเชียและประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาน้อยกว่าประเทศแถบยุโรปและสหรัฐ
ส่วนบริษัทที่มีหนี้สกุลดอลลาร์จะมีผลกระทบสูง ดังนั้นควรแปลงหนี้จากสกุลดอลลาร์เป็นบาทเพื่อความปลอดภัย
"วิกฤตในสหรัฐฯยังไม่รู้ว่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดเมื่อไหร่ และสภาพคล่องที่ออกมาอุดหนุน 7 แสนล้านดอลลาร์จะเพียงพอกับปัญหาหรือไม่ แต่มั่นใจว่าสถาบันการเงินไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังดูแลอย่างดีและสามารถรับมือได้ แต่ปัญหาเงินไหลออก เชื่อว่ายังมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเติบโตในปีหน้าน่าจะมาจากการลงทุนของภาครัฐ และปัญหานี้ยังไม่สามารถจะสรุปได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ อาจจะใช้เวลา 2-3 ปี แต่ก็มั่นใจว่ารัฐน่าจะผลักดันให้มีโครงการเมกะโปรเจ็คต์ออกมา"นายคณิศ กล่าว
ด้านนายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี(ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีความกังวลเรื่องสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยว่า เท่าที่ตรวจสอบ เป็นการถือหุ้นแทนลูกค้า หรือคัสโตเดียน จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนของไทย และหากมีการเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้นเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนมือที่สามารถตกลงกันได้ และราคาที่ตกลงกันไม่น่าจะต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การลงทุนในตลาดหุ้นคงต้องชะลอดูมาตรการของรัฐบาลสหรัฐที่จะมาช่วยเหลือ และผลกระทบที่ยังไม่ปรากฎจากสถาบันการเงินอื่น ๆ และกองทุนเฮดฟันด์ที่ยังไม่มีการประกาศออกมา ซึ่งเชื่อว่ายังมีอีกมาก และเงินอุดหนุนที่ 7 แสนล้านดอลลาร์ อาจจะไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ มองว่าสถานการณ์ปัญหาสหรัฐยังไม่จบง่าย ๆ ดูได้จากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 ที่กว่าจะปรับตัวดีขึ้นก็เป็นปี 45 ดังนั้นอย่างเร็วจะที่เห็นทิศทางดีขึ้น คือในปลายปี 52 หรือ ต้นปี 53 ดังนั้น แนะนำให้นักลงทุนถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของพอร์ต และถือเงินสดเอาไว้เพื่อรอดูสถานการณ์
นายมาริษ เชื่อว่าประเทศไทยยังมีปัจจัยที่ดีในเรื่องของสภาพคล่องยังสูงและภาคการส่งออกก็มีการปรับตัว โดยส่งออกไปสหรัฐฯและยุโรปประมาณ 20% ของการส่งออกโดยรวม ดังนั้นการส่งออกที่ในสหรัฐ และยุโรปจะเกิดผลกระทบแน่นอน แต่เชื่อว่าในภูมิภาคจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจโลกในปีหน้า และการทำ FTA รวมถึงการปรับตัวของภูมิภาคเอชียที่มีการเติบโตสูง ทั้งตะวันออกกลางและจีน น่าจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยยังคงเติบโต แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ลดลง
น.ส.รัชตวรรณ มหาศรานนท์, CFA กรรมการ The Quant Group กล่าวว่า ต่างชาติยังมีการพิจารณาลงทุนในกิจการต่างๆ ของไทยสูง และยังคงต้องการอำนาจควบคุมในการลงทุนเพื่อบริหารจัดการ และส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนจะลงทุนระยะยาว 5-7 ปี เพื่อสร้างมูลค่าผลตอบแทนและสร้างคุณค่าของกิจการก่อนที่จะขายกิจการออกไป
สำหรับกลุ่มที่สนใจเข้ามาลงทุนเป็นสถาบันการเงิน, Health Care และโรงแรม ส่วนแนวโน้มธุรกิจที่มองว่ายังเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงาน ส่วนวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ อาจกระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่เข้าสู่จุดต่ำสุดของวิกฤติ จึงไม่สามารถประเมินได้
ส่วนกรณีการลงทุนของเลห์แมน บราเธอร์ส นั้นมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไม่กี่แห่ง และในสัดส่วนที่ไม่มากนัก หากจะขายออกไปเชื่อว่ามีผู้ต้องการซื้อและกำลังซื้อในประเทศรองรับอยู่แล้วหากต้องการขาย
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--