นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับลงแรงในวันนี้เป็นการปรับตัวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่เกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ในยุโรป ที่เกิดผลกระทบทำให้สินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง แต่กรณีสินทรัพย์ในไทยยังถือว่ายังลงไม่มาก ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
"ตลาดหุ้นไทยเป็นไปตามตลาดหุ้นโลก จะใช้มาตรการอะไรไปช่วยมากไม่ได้" รมว.คลัง กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการติดตามแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินดูแลอยู่แล้วทั้งในส่วนของตลาดทุนและตลาดการเงิน
รมว.คลัง กล่าวว่า ในส่วนมาตรการเกี่ยวกับการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีให้กับเงินลงทุนในกองทุน LTF และ RMF นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด อย่างไรก็ตาม คงรอให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายก่อน จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด อีกทั้งจะเตรียมออกมาตรการเป็นแพ็คเกจดูแล SMEs เพราะจะเป็นผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติการเงินโลกซึ่งทำให้การขอสินเชื่อทำได้ยากขึ้น ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และทำให้การดำเนินธุรกิจมียอดขายไม่มากเท่าที่ควร
นายสุชาติ ยืนยันว่า ขณะนี้สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังไม่มีปัญหา กระทรวงการคลังจะประสานดูแลให้สภาพคล่องมีเพียงพอต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาค SMEs และภาคการผลิต พร้อมยอมรับว่าสภาพคล่องในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก ทำให้ ภาค SMEs และภาคการผลิตต่างมียอดขายที่ลดลงขณะที่ต้นทุนทางการเงินกลับสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะพยายามบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ศึกษาแนวทางการหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาทดแทนวงเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อได้ โดยมีวงเงินเดิม 5-6 หมื่นล้านบาท
รมว.คลัง ยังกล่าวด้วยว่า กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกขณะนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลต่อประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนต่างชะลอการลงทุน ทำให้ภาครัฐต้องมีมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชาชนในระดับรากหญ้าผ่านกลไกของทั้ง 3 ด้าน คือ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง คณะกรรมการโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชน(SML)และคณะกรรมการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP)
โดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีอยู่ 78,000 แห่ง สมาชิก 10.3 ล้านคน ยอดเงินกองทุนกว่า 1.31 แสนล้านบาท ส่วนกองทุน SML มีชุมชนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแล้วกว่า 40,000 แห่ง เป็นเงิน 9.8 พันล้านบาท
สำหรับในปีงบประมาณ 52 กองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจะเร่งกระจายไปยังแต่ละชุมชนเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ประชาชน ซึ่งหลังจากแถลงนโยบายรัฐบาลแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการ SML ชุดใหม่ โดยหมู่บ้านที่เหลืออีกราว 3.9 หมื่นแห่งที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนนั้น คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในเดือน ธ.ค.51 ซึ่งหากงบประมาณไม่เพียงพอก็พร้อมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม
--อินโฟเควสท์ โดย จารุวรรณ ไหมทอง/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--