ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กวิตกเศรษฐกิจถดถอย ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 369.88 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 7, 2008 06:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงต่ำกว่าระดับ 10,000 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐและยุโรปพยายามใช้มาตรการพยุงเศรษฐกิจไว้ก็ตาม
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 369.88 จุด หรือ 3.58% แตะที่ 9,955.50 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดร่วง 42.34 จุด หรือ 3.85% แตะที่ 1,056.89 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดดิ่งลง 84.43 จุด หรือ 4.34% แตะที่ 1,862.96 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.95 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 15 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 3.45 พันล้านหุ้น
บิล สโตน นักวิเคราะห์จาก PNC Wealth Management กล่าวว่า นักลงทุนยังคงกระหน่ำขายหุ้นแม้รัฐบาลสหรัฐประกาศใช้มาตรการกอบกู้วิกฤตการณ์ทางการเงินแล้วก็ตาม โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่แกร่งพอที่จะยับยั้งการถดถอยของเศรษฐกิจได้
สภาคองเกรสสหรัฐลงมติอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินฉบับปรับปรุงใหม่วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ด้วยคะแนนเสียง 263 ต่อ 171 เสียง ในการประชุมเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา และหลังจากสภาคองเกรสอนุมัติร่างกฎหมายฟื้นฟูภาคการเงินได้ไม่นาน ประธานาธิบดีบุชได้ลงนามผ่านร่างให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ
วิกฤตการณ์ด้านสินเชื่อที่ลุกลามเข้าไปยังยุโรป ส่งผลให้กลุ่มผู้นำยุโรปจัดประชุมเร่งด่วนในช่วงสุดสัปดาห์เช่นกัน โดยที่ประชุมสรุปว่าจะใช้มาตรการช่วยเหลือธนาคารที่ประสบปัญหา ควบคู่ไปกับการปกป้องกลุ่มผู้ฝากเงิน และในช่วงเช้าวันนี้รัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจอุ้มกิจการ ไฮโป เรียล เอสเตท สถาบันการเงินด้านการจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเยอรมนี ด้วยการอนุมัติวงเงินกู้ฉุกเฉิน 5 หมื่นล้านยูโร หลังจากบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ดาริอัส โควัลซิค นักวิเคราะห์จาก CFC Seymour Ltd. กล่าวว่า "ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐและยุโรป พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขปัญหาในระบบการเงิน และตลาดเงินเอเชียต้องการทิศทางที่ชัดเจนจากสหรัฐและยุโรป แต่ก็ยังไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมาได้"
ด้านนักวิเคราะห์จาก Commerzbank AG กล่าวว่า ขณะที่เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และคณะกรรมการเฟดร่วมมือกันสกัดกั้นวิกฤตการณ์ด้านการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 นั้น แต่สัญญาณอันตรายด้านหนึ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกไม่ควรมองข้ามคือ "ภาวะเงินฝืด (deflation)" ที่กำลังลุกลามจนน่ากลัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลง
หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงหลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงลงลงสู่ระดับต่ำกว่าระดับ 88 ดอลลาร์/บาร์เรล จากการคาดการณ์ที่ว่าภาวะถดถอยจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์พลังงานทั่วโลก โดยดัชนีหุ้นบริษัทบริการน้ำมันร่วงลง 7.8%
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงอย่างหนัก โดยหุ้นออราเคิล ผู้ผลิตซอฟท์แวร์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก ร่วงลง 6.1% หลังบริษัท SAP AG ของเยอรมนีซึ่งเป็นคู่แข่งเปิดเผยว่า กิจการของบริษัททรุดตัวลงในช่วงไตรมาส 3 ส่วนหุ้นอีเบย์ อิงค์ ร่วง 5.5% หลังจากบริษัทเตรียมปรับลดพนักงานลง 10%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ