"ทริส"จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ TUF ที่ระดับ “A+" แนวโน้ม"Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 8, 2008 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ที่ระดับ “A+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้เดิมของบริษัทที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก การมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย และความแข็งแกร่งของเครื่องหมายการค้าปลาทูน่ากระป๋อง “Chicken of the Sea" 
นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังคำนึงถึงผลงานของคณะผู้บริหารที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเล และนโยบายในการขยายกิจการที่ระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศผู้ซื้อรายสำคัญๆ ความอิ่มตัวของอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องในประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาปลาทูน่าที่มีความผันผวน และการแข่งขันของผู้ประกอบการจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ความผันผวนของค่าเงินบาท และความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภค
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งจะขยายธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และลดภาระหนี้ได้ภายในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งรายใหญ่ของประเทศไทย โดยมียอดขายในปี 2550 อยู่ที่ 55,507 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2551 บริษัทมีกำลังการผลิตปลาทูน่ากระป๋องอยู่ที่ 309,000 ตันต่อปี ส่งผลทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในผู้แปรรูปปลาทูน่าชั้นนำของโลก มูลค่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Value) ที่แข็งแกร่งของบริษัทสืบเนื่องมาจากการขยายธุรกิจสู่งานด้านบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายกระจายสินค้า
นอกจากนี้ บริษัทยังมีสินค้าที่หลากหลาย โดย ณ ครึ่งแรกของปี 2551 ปลาทูน่ากระป๋องสร้างรายได้ให้บริษัทมากที่สุดประมาณ 50% ของยอดขายทั้งหมด ตามด้วยกุ้งแช่แข็ง 18% อาหารทะเลกระป๋อง 8% และอาหารสัตว์กระป๋อง 8% ตลาดส่งออกหลักของบริษัทประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา (51%) สหภาพยุโรป (13%) และประเทศญี่ปุ่น (9%) ผู้บริหารของบริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปมานานกว่า 2 ทศวรรษ ในขณะที่บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าปลาทูน่ากระป๋อง “Chicken of the Sea" ซึ่งจำหน่ายมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประเทศสหรัฐฯ การซื้อลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “Chicken of the Sea" เต็ม 100% ในปี 2544 ช่วยเสริมให้ฐานะบริษัทเข้มแข็งขึ้นและส่งผลให้รายได้ของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัว ความแข็งแกร่งของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทสร้างฐานลูกค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งสินค้าคุณภาพสูงและสินค้าอาหารทะเลมูลค่าเพิ่ม (Value-added Product)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของบริษัทจะเติบโตอย่างค่อนข้างมั่นคง แต่ปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผลประกอบการของบริษัท บริษัทได้รับผลบวกจากอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 โดยอัตราภาษีใหม่ของบริษัทอยู่ที่ 2.85% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเบื้องต้นที่ 15.3% และอัตราเฉลี่ยของผู้ส่งออกไทยที่ 3.18% อัตราภาษีที่ต่ำลงนี้จะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกกุ้งของบริษัทไปยังประเทศสหรัฐฯ ต่อไปซึ่งมีปริมาณกุ้งที่ส่งออกประมาณ 7% ของรายได้ทั้งหมด
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงเล็กน้อย ราคาปลาทูน่าที่สูงเป็นประวัติการณ์สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อสัดส่วนรายได้ต่อยอดขายและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด ในครึ่งแรกของปี 2551 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ที่ 5.3% ลดลงจาก 5.9% ในปี 2550 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนมิถุนายน 2551 อยู่ที่ 47.0% เทียบกับ 49.2% ในปี 2550 และ 39.9% ในปี 2549 อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยภายหลังจากการออกหุ้นกู้ครั้งใหม่ โดยบริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในระดับที่รับได้ถึงแม้ว่าจะลดลงเล็กน้อย อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 อยู่ที่ 7.3 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 6.3 เท่าในปี 2550
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องต่อไปอีกในระยะปานกลางจากราคาปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาท สัดส่วนกำไรของบริษัทอยู่ในจุดที่บริษัทจะสามารถเพิ่มภาระหนี้ได้อีกไม่มากนัก มิฉะนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ความวุ่นวายของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันทำให้ภาวะแวดล้อมทางธุรกิจของบริษัทยากลำบากยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลง ตลาดเงินกู้ระยะสั้นที่ตึงตัวขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของบริษัทไม่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจากการมีธุรกิจที่หลากหลายและสินค้าที่ราคาไม่แพง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ