นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า จากการพบนักลงทุนในดูไบ หลังการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน โดยได้พูดคุย one-on-one กับ 2 กองทุน คือ กองทุนธนาคารอิสลามของดูไบ และกองทุนดูไบ อินเตอร์เนชั่นแนล แคปปิตอล ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนทั่วโลก
ในส่วนธนาคารอิสลามของดูไบสนใจลงทุนโดยตรงในธนาคารอิสลามของประเทศไทย และพันธบัตรที่ธนาคารอิสลามสามารถลงทุนได้ตามหลักศาสนา รวมทั้งหุ้นที่อยู่ในซารีอะห์ อินเด็กซ์ ที่ตลท.มีแผนจะเปิดตัวในอนาคต
ส่วนกองทุนดูไบอินเตอร์เนชั่นแนล แคปปิตอล เป็นกองทุนที่ลงทุนทั่วโลก แสดงความสนใจที่จะลงทุนในธุรกิจโรงแรมและโครงการเมกะโปรเจ็คต์ ที่เกี่ยวกับโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ซึ่งสอดคล้องกับการที่ปลัดกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในที่ประชุมว่าประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม มองว่าจังหวะการลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั้งสองรายคงต้องใช้เวลาค่อนข้างระยะยาว เพราะในระยะสั้นทุกคนยังชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ และขอถือเงินสดเอาไว้ก่อน
นางภัทรียา กล่าวว่า กองทุนดูไบฯ มีขนาด 1.3-1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการลงทุนแต่ละครั้งจะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน ได้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียแล้วถึงประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แต่อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข้อมูลของตลท.ก็พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤติการเงินในสหรัฐและยุโรป แต่เมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาคก็ถือว่าประเทศไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่า และก็ยังคงนำเสนอว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
ส่วนปัญหาเรื่องการเมืองของประเทศไทย นักลงทุนในดูไบไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกเป็นปัญหาใหญ่และเป็นผลกระทบโดยตรงมากว่าปัญหาการเมือง
"นักลงทุนตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่มีขนาดการลงทุนที่ใหญ่ และต้องการลงทุนโดยตรงในกิจการต่างๆ มากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้การลงทุนผ่านตลาดคงเป็นเรื่องยาก เพราะสินค้าของเราไม่เพียงพอรองรับกับวงเงินขนาดใหญ่ แต่ถ้ามีเมกะโปรเจ็คต์ และมีการลงทุนโดยตรง เชื่อว่าจะดึงเม็ดเงินเหล่านี้เข้ามาลงทุนในไทยได้ แต่คงเป็นในระยะยาว"นางภัทรียา กล่าว
นางภัทรียา กล่าวเสริมว่า หลังพบปะรัฐมนตรีอาเซียน เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย เนื่องจากมีความร่วมมือในการป้องกันวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่ออาเซียนและเอเชีย ยังมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนและเอเชีย เพราะมีความร่วมมือที่ดีต่อกัน
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--